จากการเข้ามาของการท่องเที่ยว ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ท้องถิ่นนั้นๆ จำเป็นต้องมีการ ‘ปรับตัว’ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ซึ่งเมือง Kumta ในประเทศอินเดีย ก็ถือเป็นอีกเมืองหนึ่งที่หลีกหนีความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่พ้น โดยมี Hut-to-Hut Project เป็นโครงการนำร่อง ที่จะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของคนในท้องถิ่น ในการใช้รับมือกับการท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตอันใกล้
บ้านพักอาศัยขนาดเล็กหลังนี้ เป็นผลผลิตจากการลงเวิร์คชอปของนักศึกษาและอาสาสมัคร จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง Trondheim (University of Science and Technology in Trondheim) ประเทศนอร์เวย์ ร่วมกับ Rintala Eggertsson Architects ออกแบบอาคารบนฐานของทรัพยากรและภูมิปัญญาของท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีอย่างง่ายๆ รวมทั้งวัสดุพื้นๆ ที่ชาวบ้านสามารถสร้างได้เอง
รูปร่าง-รูปทรงของอาคาร ถูกหยิบยืมรูปแบบมาจาก บ้านพักอาศัยแบบพื้นถิ่นของชาวบ้านในแถบนี้ มาประยุกต์จนเกิดเป็นอาคารพักอาศัยร่วมสมัย ตัวอาคารถูกแบ่งเป็น 2 หลัง ที่ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง ระหว่างอาคารทั้ง 2 หลัง ถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยทางเดิน ไฟฟ้าที่ใช้ได้มาจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดอยู่บนหลังคา สำหรับเฉพาะในส่วนที่จำเป็น เช่น ใช้ส่องสว่างในยามค่ำคืนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีระบบเก็บกักน้ำฝน สำหรับใช้เป็นน้ำอาบในห้องน้ำ ในอนาคตผู้ออกแบบยังได้วางแผนให้มีการนำของเสียจากห้องน้ำและครัว มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) สำหรับใช้ในการหุงต้มต่างๆ เพื่อให้อาคารนี้สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อาคารหลังนี้ได้กลายเป็นต้นแบบชิ้นสำคัญเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต ที่ชาวบ้านสามารถลงทุนได้เอง ก่อสร้างได้เอง รวมทั้งดูแลรักษาและบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง
อ้างอิง : designboom