‘Kibbutz Lotan’ ชุมชนเกษตรกรรมสวนกระแสกลางทะเลทรายอิสราเอล

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน เมื่อครั้งที่ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก พากันอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานยังดินแดนที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ในครั้งนั้นชาวยิวส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมตามชนบท หรือที่เรียกว่า ‘คิบบุตซ์’ (Kibbutz) ปัจจุบันทั่วทั้งประเทศอิสราเอลมีคิบบุตซ์อยู่มากกว่า 250 แห่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และหนึ่งในนั้นคือ คิบบุตซ์โลตัน

ท่ามกลางความร้อนระอุของทะเลทรายอราวาในแถบทางตอนใต้ของอิสราเอล เป็นที่ตั้งของคิบบุตซ์โลตัน หนึ่งในคิบบุตซ์ที่ยังคงมีการดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ คิบบุตซ์แห่งนี้ เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1983 โดยได้รวบรวมชาวยิวจากหลากหลายแหล่ง ทั้งที่เกิดในอิสราเอลและที่อพยพมาจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน ภายในคิบบุตซ์โลตันแห่งนี้ก็ไม่แตกต่างจากคิบบุตซ์อื่นๆ โดยทั่วไป ตรงที่เป็นชุมชนที่สมาชิกทุกคนจะร่วมกันประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรวมตัวกันในรูปสหกรณ์ ทรัพย์สินทุกอย่างรวมทั้งผลผลิตที่ได้ จะถือเป็นสมบัติของส่วนรวมทั้งหมด

สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างภายในคิบบุตซ์แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นบนเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย ทั้งทางด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และทรัพยากร ชาวคิบบุตซ์โลตันจึงช่วยกันสร้างสิ่งก่อสร้างภายในชุมชน โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่และหาได้ง่าย ดิน กลายเป็นวัสดุหลักที่ถูกเลือกนำมาใช้ เพราะมีทั้งความแข็งแรง ทนทาน หาได้ง่าย และสามารถนำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่ อาคารส่วนใหญ่ในชุมชนจึงมีดินเป็นวัสดุหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาคารพักอาศัย หรืออาคารส่วนกลาง รูปแบบของอาคารทั้งหมดจะสร้างแบบเรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอยและเข้ากับภูมิประเทศ ภูมิอากาศได้ดี นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุเหลือใช้ อย่างเช่น ยางรถยนต์ มาเป็นส่วนประกอบของอาคาร รวมทั้งมีการคิดค้นเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น โครงสร้างโดมที่โครงทำจากเหล็กและบุด้วยก้อนฟางอัด ก่อนจะฉาบปิดผิวหน้าด้วยดินอีกชั้นหนึ่ง

แม้ชุมชนแห่งนี้จะมีความเป็น ‘ชุมชนในอุดมคติ’ อยู่ค่อนอย่างสูง และถูกสร้างขึ้นมาด้วยเงื่อนไขเฉพาะในพื้นที่ จนยากที่จะเกิดชุมชนแบบเดียวกันนี้ขึ้นในพื้นที่อื่นๆ นอกอิสราเอล แต่อย่างน้อยแนวทางปฏิบัติของ คิบบุตซ์โลตันแห่งนี้ที่เน้นการพึ่งพาตัวเอง และใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ชุมชนขนาดเล็กตามชนบททั่วโลกที่ไม่มีทรัพยากรมากนักได้ใช้เป็นแบบอย่าง ในการฝ่าฟันอุปสรรคและยืนบนลำแข้งของตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิ

อ้างอิง : Kibbutz Lotan