‘LaunchPad’ ศูนย์คอมพ์ฯจากตู้คอนเทนเนอร์เก่าเปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆ

ในยุคโลกร้อนเช่นทุกวันนี้ ภาพของงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ ปรากฏให้เห็นอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งวัสดุเหลือใช้ที่นิยมถูกนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่มากที่สุดชนิดหนึ่งในแวดวงสถาปัตยกรรมคือ ตู้สินค้า หรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีปรากฏให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของบ้าน ร้านค้า หรือสำนักงาน ที่ต่างก็ใช้ตู้คอนเทนเนอร์เก่าเป็นส่วนประกอบ เช่นเดียวกับผลงาน LaunchPad ชิ้นนี้

ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์เหลือใช้ชิ้นนี้ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ สำหรับเด็กด้อยโอกาสในประเทศแอฟริกาใต้ ออกแบบโดย บริษัทสถาปนิก Perkins+Will ร่วมกับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จากตู้คอนเทนเนอร์เก่าขนาด 40 ฟุต ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งพื้นที่ทุกตารางนิ้วภายในตู้คอนเทนเนอร์เล็กๆ หลังนี้ ได้รับการใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบไปด้วย ห้องส่วนกลางที่มีคอมพิวเตอร์จำนวน 7 เครื่อง และห้องทำงานส่วนตัวอีก 3 ห้อง รวมทั้งชั้นวางหนังสือและเก็บของที่ออกแบบให้ติดอยู่กับผนัง

การใช้พลังงานอย่างประหยัดและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นอีกสิ่งที่ได้รับการให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หลังคาถูกออกแบบให้มี 2 ชั้น เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดเข้าสู่ตู้คอนเทนเนอร์โดยตรง บนหลังคาชั้นบนจะมีแผงโซล่าร์เซลล์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายใน นอกจากนี้ยังมีระบบสำรองไฟสำหรับเก็บไฟไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ภายในส่วนทำงานออกแบบให้ใช้แสงธรรมชาติ รวมทั้งระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ เพื่อลดการใช้พลังงานให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

นอกจาก LaunchPad แห่งนี้จะเป็นแหล่งสำหรับเรียนรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์แล้ว ยังเป็นแหล่งสำหรับพัฒนาทักษะทางด้านภาษา และทักษะทางด้านกิจกรรมต่างๆ ช่วยเปิดโลกให้กับเด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งจะเป็นความรู้ที่อยู่ติดตัวไปตลอด เด็กเหล่านี้แทบจะไม่มีโอกาสได้หาความรู้หรือพัฒนาตนเองได้เลย หากไม่มีผู้หยิบยื่นโอกาสอันดีนี้ให้ จากนี้ไปทางผู้ดำเนินการโครงการจึงมีความคิดที่จะสร้าง LaunchPad ในรูปแบบเช่นเดียวกันนี้อีกกว่า 100 หลัง ภายใน 5 ปี โดยจะกระจายไปทั่วในประเทศแถบแอฟริกาทางตอนใต้ เพื่อกระจายโอกาสอันดีเช่นนี้ไปสู่เด็กผู้ด้อยโอกาสให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อ้างอิง : fastcoexist