‘LIFT House’ บ้านครึ่งบกครึ่งน้ำ เทคโนโลยีบ้านๆ เพื่อรับมือน้ำท่วม

ในทุกๆ ปีประเทศบังคลาเทศจะมีประชากรจำนวนนับล้านๆ คนที่ต้องได้รับความสูญเสียจากภัยน้ำท่วม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคนยากจน โครงการ LIFT House จึงถูกคิดค้นขึ้น โดยชื่อของ LIFT House นั้นย่อมาจาก Low Income Flood-proof Technology หรือ เทคโนโลยีเพื่อป้องกันภัยจากน้ำท่วมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผลงานทั้งหมดได้รับการออกแบบและควบคุมงานสร้างโดยสถาปนิกสาวนาม Prithula Prosun

สถาปัตยกรรมลักษณะ ‘ครึ่งบกครึ่งน้ำ’ กลายเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับงานชิ้นนี้ ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีการปรับตัวไปตามระดับน้ำขึ้น-ลง สามารถลอยน้ำได้เวลาที่เกิดน้ำท่วมและกลับมาตั้งอยู่บนพื้นดินได้ตามเดิมเมื่อน้ำลดลง บ้านหลังนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแกนกลางที่ได้รับการออกแบบมาให้ตั้งอยู่กับที่ และจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักที่ยึดหน่วยพักอาศัยทั้ง 2 หน่วยที่สามารถลอยน้ำได้เข้าไว้ด้วยกัน ในส่วนที่เป็นหน่วยพักอาศัยมีโครงสร้างทำจากไม้ไผ่ และยึดกับส่วนแกนกลางด้วยข้อต่อลักษณะพิเศษที่ออกแบบมาให้สามารถเคลื่อนที่ในแนวขึ้น-ลงได้ดี บริเวณฐานรากของแต่ละหน่วยพักอาศัยจะใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลจำนวน 8,500 ใบ มาเป็นส่วนประกอบ ทำให้ฐานรากในส่วนนี้มีลักษณะคล้ายทุ่นลอยน้ำสามารถลอยขึ้น-ลงตามระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไว้บนหลังคา ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าในยามที่น้ำท่วมและไฟฟ้าต้องถูกตัด

LIFT House เกิดขึ้นจากการหลอมรวมงานออกแบบ วัสดุ และเทคโนโลยีก่อสร้างที่เหมาะสม ตลอดจนปัจจัยทางด้านที่ตั้ง ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมทั้งผู้ใช้งานและสภาพสังคมเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว จนเกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ดีบนพื้นฐานของความยากจน และการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนภายในท้องถิ่น เป็นภาพสะท้อนของการพยายามเอาตัวรอดเพื่อดำรงอยู่บนโลกใบนี้ในอนาคตของคนระดับรากหญ้าหรือชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมักไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

อ้างอิง : openarchitecturenetwork