‘ลี่หยวน’ ห้องสมุดธรรมดาที่แสนพิเศษ ท่ามกลางธรรมชาติและชุมชน

ณ จังหวัดฮว๋ายโหรว ไม่ไกลนักจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ปรากฏห้องสมุดเล็กๆ ที่เป็นมากกว่าห้องสมุด ไม่ใช่ห้องสมุดที่เข้าไปอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นห้องสมุดที่ผูกพันไปกับสถานที่อย่างแนบแน่นด้วยความละเมียดละมัยในการออกแบบ

จากกรุงปักกิ่งราว 2 ชั่วโมงกับการเดินทางด้วยรถจะพาเรามาถึงหมู่บ้านเจียวเจียเฮอ และห่างจากหมู่บ้านไปด้วยการเดินเท้าราว 5 นาที เราจะมาถึงห้องสมุดลี่หยวน ที่กลมกลืนไปกับภูมิทัศน์ของหุบเขาและลำธารโดยรอบ ผิวอาคารแสนละเอียดเกิดจากการรวมตัวกันของเศษไม้ฟืนเล็กๆ ที่พบได้ทั่วไปในละแวกหมู่บ้าน มองผิวเผินจะคล้ายว่าเป็นกล่องไม้ ทว่าละเมียดด้วยรายละเอียดจากฝีมือการออกแบบของ ลี่ เสี่ยวตง อาร์เทอลิเอร์ (Li Xiaodong Atelier) เจ้าพ่องานออกแบบธรรมดาที่สุดพิเศษ อย่างที่เราจะเห็นจากงาน Bridge School ที่ฟูเจี้ยนที่นำเสนอไปในคราวก่อน ซึ่งสถาปนิกนำเสนอสถาปัตยกรรมที่ทำให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับห้องสมุดลี่หยวนนี้ นอกจากเรื่องของโปรแกรมแล้ว สถาปนิกยังนำเสนอการเลือกวัสดุที่เรามักจะมองข้ามในการสร้างสถาปัตยกรรม เพราะเรามักจะมองเป็นแค่ไม้ฟืนหุงหาอาหารเท่านั้น ในคราวนี้สถาปนิกเลือกที่จะใช้ไม้ฟืนซึ่งเป็นวัสดุธรรมดาให้กลายเป็นผิวอาคารได้อย่างวิเศษ เปลือกอาคารถูกหุ้มจากกิ่งไม้ที่หาได้รอบหมู่บ้าน ที่ปรกติชาวหมู่บ้านเก็บไว้ใช้ทำฟืนสำหรับหุงหาอาหารในชีวิตประจำวัน แต่คราวนี้ถูกปรับให้เป็นผิวอาคารสุดเก๋ ด้วยการติดตั้งเป็นลวดลายแนวตั้งซ้ำกันไปมา แต่ธรรมชาติของไม้นั้นจะไม่ตรง มันมีชีวิตและคดไปมาตามธรรมชาติ ทำให้เกิดเสน่ห์ของเปลือกอาคาร มันช่วยให้ห้องสมุดนี้ดูเป็นมิตรและกลืนไปกับภูมิทัศน์เดิมโดยรอบ ผลจากการเลือกใช้กิ่งไม้ห่อหุ้มเปลือกนอกจากจะทำให้ภายนอกดูนุ่มนวลแล้ว ยังช่วยกรองแสงให้นุ่มละมุนกับพื้นที่อ่านหนังสือภายใน แสงละมุนที่ลอดผ่านเปลือกไม้ฟืนผ่านกระจกที่หุ้มไว้โดยรอบ ทำให้ทุกพื้นที่การอ่านที่เป็นขั้นและแบ่งเป็นมุมต่างๆ ให้เลือกตามความต้องการดูน่าใช้มากขึ้น โดยไม่ต้องใช้แผงบังแดดไฮเทคราคาแพงเข้ามาปรับสภาพแสงแต่อย่างใด

นอกจากความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมแล้ว เรื่องราวของระบบหนังสือก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ทางห้องสมุดได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบด้วยการจัดโครงการบริจาคหนังสือ โดยใครที่บริจาคหนังสือให้ห้องสมุดแห่งนี้ 2 เล่ม สามารถมีสิทธิ์แลกหนังสือที่ตัวเองต้องการกลับไปได้ 1 เล่ม ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมทั้งของชุมชนและสถาปัตยกรรม

ห้องสมุดเล็กๆ หลังนี้แม้จะไม่มากมายด้วยขนาด แต่กลับมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ซึ่งหากนำไปต่อยอดทั้งสถาปัตยกรรม ความมีส่วนร่วมของชุมชน เราเชื่อได้ว่าจะเกิดอะไรดีๆ ขยายต่อไปได้ไม่รู้จบบนโลกเราได้

อ้างอิง : archdaily