จากดินสู่อิฐ จากอิฐสู่อาคารเรียน ช่วยเด็กด้อยโอกาสในแอฟริกา

บนพื้นที่ชนบทอันห่างไกลของประเทศมาลี ในแถบแอฟริกาตะวันตก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ร้อน แห้งแล้ง รวมทั้งขาดแคลนทรัพยากรเป็นอย่างมาก ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคสำหรับการสร้างสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างขึ้นมาสักชิ้น หากแต่สองสถาปนิกชาวดัตช์อย่าง Joop และ Jurriaan van Stigt กลับไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรค เขาสองคนได้ร่วมมือกันสร้างอาคารเรียนขนาดเล็กขึ้นมาบนพื้นที่แห่งนี้ ด้วยทรัพยากรที่หาได้ง่ายที่สุดคือ ‘ดิน’

จากวัสดุพื้นๆ อย่างดิน ซึ่งหลายคนอาจมองข้าม สถาปนิกทั้งคู่ได้คิดค้นวิธีที่จะแปลงดินให้กลายมาเป็นวัสดุก่อสร้าง ซึ่งข้อจำกัดหนึ่งของดินที่พบในแถบนี้คือ เป็นดินที่ค่อนข้างร่วนและแห้ง ไม่สามารถนำมาปั้นเป็นก้อนได้ ‘อิฐดินอัด’ จึงกลายเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนแห่งใหม่แทนที่อาคารเรียนหลังเดิม และอาคารเรียนหลังใหม่นี้จะกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ จาก 3 หมู่บ้านที่อยู่ในละแวกนี้ และละแวกข้างเคียง

ในขั้นตอนการก่อสร้าง ดินทั้งหมดจะถูกนำมาผสมกับซีเมนต์ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนจะนำมาผ่านกรรมวิธีอัดให้เป็นก้อน ก้อนอิฐที่ได้ทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ก่อสร้างเป็นส่วนต่างๆ ของอาคารเรียน ตั้งแต่ พื้น ผนัง ไปจนถึงหลังคา รูปแบบการก่อสร้างเป็นการประยุกต์มาจากการก่อสร้างอาคารพื้นถิ่นของท้องที่แถบนี้ คุณสมบัติเด่นของผนังที่มีส่วนประกอบของดินคือ จะเก็บกักความร้อนได้ดี รักษาอุณหภูมิภายในไม่ให้สูงจนเกินไป ผสานกับหน้าต่างสำหรับระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ ช่วยให้ในเวลากลางวัน ภายในห้องเรียนนี้ยังคงมีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจนเกินไป ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกอาจสูงถึง 45 องศาเซลเซียส

ข้อดีอีกประการของการใช้ดินเป็นวัสดุในการก่อสร้างคือ ปลวก ซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนี้ ไม่สามารถสร้างความเสียหายกับอาคารหลังนี้ได้ นอกจากนี้ ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งจากการใช้ดินคือ ลดการตัดไม้ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว เพื่อนำมาเป็นวัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างทั้งหมดเกิดจากการร่วมแรงของชาวบ้าน ช่วยสร้างให้เกิดกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว อาคารหลังนี้ยังเป็นสถาปัตยกรรมสำหรับชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน โดยแท้จริง

อ้างอิง : inhabitat