Mason Lane Farm โรงนาไผ่สานคว้าโกล์ด LEED ของอเมริกา

Mason Lane Farm เป็นโรงนาธรรมดาๆ ตั้งอยู่ในบริเวณเขตชนบทของมลรัฐ North Carolina ประเทศสหรัฐอเมริกา หากแต่แต่สะดุดตาด้วยผนังอาคารที่โดดเด่นด้วยลูกเล่นในการสานไม้ไผ่ ที่ถูกถักทอให้พื้นผิวภายนอกไม่ต่างกับการตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ให้กับอาคาร โรงนาหลังนี้ออกแบบโดย De Leon & Primmer Architecture Workshop ซึ่งให้ความสำคัญกับวัสดุท้องถิ่นในการออกแบบอาคารมาเป็นลำดับแรก โดยวัสดุประกอบอาคารทั้งหมด ล้วนเหาได้จากรัศมี 500 ไมล์โดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ที่มีทั้งวัสดุสมัยใหม่เช่นเหล็กและคอนกรีต วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ รวมทั้งไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่ปลูกในแหล่งซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่โครงการเพียง 35 ไมล์

เมื่อมองจากภายนอก อาคารหลังนี้มีรูปทรงที่ไม่ต่างจากอาคารโรงนาทั่วไปตามชนบทเท่าใดนัก คือมีรูปทรงที่เรียบง่ายเพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ภายในเป็นพื้นที่ใช้งานแบบเปิดโล่งซึ่งประกอบด้วยพื้นที่โล่งขนาดใหญ่บริเวณส่วนกลาง สำหรับใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์และเครื่องจักรทางการเกษตร บริเวณส่วนปลายทั้ง 2 ข้าง ใช้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บฟางแห้ง วัสดุพื้นผิวที่เป็นเสมือนพระเอกของงานนั้นทำขึ้นด้วยไม้ไผ่ ส่วนการติดตั้งนั้นมีเทคนิคที่คิดค้นขึ้นพิเศษ โดยนำไม้ไผ่ต่างขนาดมาวางตามแนวตั้ง-นอนเป็นจังหวะ คล้ายการจักสานเครื่องนุ่งห่ม โดยลำไผ่เหล่านี้จะถูกผูกยึดระหว่างกันอย่างง่ายๆ ด้วยลวดโลหะ ช่องว่างระหว่างลำของไม้ไผ่ยังช่วยให้ตัวอาคารมีการระบายอากาศที่ดี และยังช่วยให้อาคารมีลักษณะ ไม่โปร่งและไม่ทึบจนเกินไป

ด้านการวางผังผู้ออกแบบได้ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมดั้งเดิมเป็นอย่างมาก มีการคำนึงถึงทิศทางการระบายน้ำตามธรรมชาติ และได้วางอาคารในตำแหน่งที่ไม่ขวางทางน้ำ โดยมีการปรับพื้นที่ให้น้อยที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสร้างพื้นที่ดาดแข็ง โดยสร้างให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อฝนตกน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมกันบริเวณที่เรียกว่า Rain Garden ทางด้านหน้าพื้นที่โครงการ น้ำที่เก็บไว้นี้จะถูกนำมาหมุนเวียนใช้ในโครงการ และจากการคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเช่นนี้ Mason Lane Farm แห่งนี้ สามารถคว้ามาตรฐานอาคารเขียวของอเมริกา (LEED ) ในระดับ Gold มาครอบครองได้ โดยถือเป็นอาคารจากภาคเกษตรกรรมอาคารแรกที่ได้รับมาตรฐานอาคารเขียวนี้

อ้างอิง : archdaily, De Leon & Primmer