‘ศูนย์ฝึกการแพทย์แม่ตาว’ สถาปัตย์บ้านดินภูมิปัญญาท้องถิ่น

ณ ชายแดนไทย ความขัดแย้งดูราวกับจะลดอุณหภูมิลงจากการสู้รบของกองกำลังรัฐบาลทหารกับชนกลุ่มน้อยรอบๆ ตะเข็บชายแดน และดูจะเป็นขาขึ้นของกลิ่นสันติภาพในประเทศพม่าเพื่อต้อนรับอาเซียน แต่ผลลัพธ์จากเหตุการณ์ในอดีตยังไม่ได้หายไปราวกับเสกทิ้งได้ เรายังพบร่องรอยเรื่องราวเหล่านี้ อย่างน้อยก็ ณ แม่สอด จ.ตาก ราชอาณาจักรไทย

และในที่ดินของโครงการเดียวกันกับเเม่ตาวคลินิกที่เราเคยเสนอไปในคราวก่อน คราวนี้มีส่วนต่อเติมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นอกจากจะเป็นบ้านพักฉุกเฉินจากไม้ไผ่ ไม่ไกลกันนักเกินชั่วเคี้ยวหมากแหลก เราจะพบกับโปรแกรมใหม่ของเเม่ตาวคลินิกคือ ศูนย์ฝึกการแพทย์แม่ตาว ออกแบบโดยสถาปนิกเจ้าเดิมในชื่อใหม่ ‘a.gor.a Architects’ งานนี้สร้างเพื่อรองรับกิจกรรมอบรมทางการพทย์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ลี้ภัยสงครามจากฝั่งพม่ามายังฝั่งไทย

การสร้างสถาปัตยกรรมที่มาจากแก้ปัญหาจากวัสดุ ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นพระเอกในงานนี้ โปรแกรมเริ่มที่ความต้องการออกแบบสถานที่เรียนเกี่ยวกับสุขอนามัย การป้องกันโรคระบาด เพื่อรองรับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนในแคมป์ผู้อพยพ ศูนย์ฝึกการแพทย์นี้ต้องรองรับนักเรียนจำนวน 40 คน แบ่งเป็น 2 ห้องเรียน จึงเกิดเป็นความเรียบง่ายมาพบกับภูมิปัญญาในการสร้างบ้านแบบไม่ต้องพึ่งพิงระบบอุตสาหกรรมหลักที่ยากต่อการขนย้ายวัสดุจากในเมือง สถาปนิกเลือกที่จะใช้องค์ความรู้ ’บ้านดิน’ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ผูกพันกับโลกตะวันออกมาแสนนาน และเพื่อแก้ปัญหาจากน้ำฝนที่คอยชะผิวดินภายนอก จึงออกแบบให้เป็นบานคอนกรีตสูง 30 เซนติเมตร ก่อนจะเริ่มก่ออิฐดินดิบแล้วฉาบไล้ผนังด้วยดินอีกครั้ง ความงามเรียบง่ายและความลงตัวของการใช้สอยจาก ‘ดิน’ เป็นอีกสถาปัตยกรรมที่ประกาศถึงการลดการพึ่งพาจากอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างแบบเดิมๆ

แม้ว่าสงครามจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นผลพวงจากความเชื่อ หรือจากการลดประชากรเพื่อให้พอดีกับทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ยขึ้นก็ตาม คนที่เจ็บที่สุดไม่ใช่ผู้เริ่มต้นแต่เป็นชาวบ้านที่วิ่งหนีความตาย สถาปัตยกรรมเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แม้ว่าจะมีส่วนร่วมได้น้อย แต่การรู้จักคิดแก้ไขจากภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดให้เหมาะกับสภาพการณ์ ยังคงเป็นอะไรที่ทันสมัยอยู่เสมอแน่นอน

อ้างอิง:  archdaily