Monstrum: สนามเด็กเล่นเหนือจินตนาการปลุกความคิดสร้างสรรค์

โลกของเด็กและผู้ใหญ่มีมาตราส่วนหรือที่ศัพท์ทางสถาปัตยกรรมเรียกว่า สเกล (scale) ไม่เท่ากัน เด็กจะมีมุมมองที่ยังมองโลกใหญ่กว่าที่เรา(ผู้ใหญ่)คิดและเห็น อย่างเช่นในที่ดินหน้าบ้านที่ลาดเอียงปกติ แต่ในจินตนาการของเด็กมันคือทางขึ้นเขาหรือเชิงเขาเลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากสเกลนั่นเอง ฉะนั้นการสร้างสถาปัตยกรรมหรืออะไรก็ตามสำหรับเด็ก ความเข้าใจในเรื่องสเกลจึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักในระดับต้นๆ

และก็เหมือนอย่างที่ Ole Barslund Nielsen และ Christian Jensen สองผู้ก่อตั้ง ‘Monstrum’ สนามเด็กเล่นแนวคิดใหม่จากเดนมาร์ค ต้องการนำเสนอสนามเด็กเล่นที่ราคาถูกแต่คุณภาพดีต่อการสร้างสรรค์ สร้างสนามเด็กเล่นจากมุมมองของเด็ก ซึ่งไปได้ไอเดียเริ่มต้นจากการที่ Nielsen ได้สังเกตถึงพฤติกรรมลูกของเขา และตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงไม่มีสนามเด็กเล่น มีเครื่องเล่นในสนามที่มันชวนให้เด็กเข้าไปเล่นแล้วเกิดความคิดสร้างสรรค์ ทำไมจะต้องมีแต่เครื่องเล่นเดิมๆ จากคำถามเหล่านี้จึงทำให้การสร้างสรรค์แบรนด์ Monstrum ถูกออกแบบจากมุมมองของเด็กที่เขาทำการพัฒนาและวิจัยจากเหล่าเด็กๆ เราจึงได้พบกับเครื่องเล่นที่ไม่ซ้ำกันและชวนจินตนาการถึงสิ่งที่เด็กอาจจะยังไม่เคยเห็น เราจะพบกับเครื่องเล่นแบรนด์ Monstrum ที่มากมายไปด้วยสิงสาราสัตว์อย่าง ปลายักษ์ วาฬย่อส่วน เครื่องบินแยกส่วน เห็ดยักษ์ ซึ่งเด็กในแต่ละวัยก็สามารถเข้ามาเล่นร่วมกันภายในพื้นที่เหล่านี้ อีกทั้งการเลือกใช้วัสดุก็เป็นสิ่งที่พวกเขาคำนึงเช่นกันด้วยการเลือกใช้ไม้จากป่าที่การปลูกแทน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่การรักษ์โลกแก่เด็กๆ ต่อไป

การกระตุ้นจินตนาการในวัยเด็กนั้นสำคัญยิ่งยวด เพราะจะช่วยให้เขามีฝันเพื่อพัฒนาสังคมและโลก อย่างครูสองในภาพยนตร์คิดถึงวิทยาที่ลงทุนลากเรือนแพ เพื่อจำลองให้เด็กๆ ที่อยู่แต่ในเขื่อนได้ร่วมจินตนาการถึงรถไฟที่ไม่เคยเห็น ทำให้อย่างน้อยเด็กก็ถูกกระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็นนอกเรือนแพ และกระตุ้นให้ก้าวจากจินตนาการสู่ความจริงในที่สุด

[youtube url=”http://youtu.be/ofmV6XIzrWQ” width=”600″ height=”340″]

 


อ้างอิง: Monstrum