ในขณะที่บรรดาสถาปนิกและนักออกแบบจำนวนมากในประเทศโลกที่ 3 ต่างเห็นว่า หนทางเดียวที่จะนำพาตนเองให้ไปสู่ความทันสมัยก็คือ การลอกเลียนรูปแบบทางสถาปัตยกรรมจากประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว หากแต่ Benjamin Garcia Saxe สถาปนิกจากประเทศเล็กๆ อย่าง คอสตาริก้า กลับไม่คิดเช่นนั้น โดยเขาผู้นี้มองว่า สถาปนิกชาวโลกที่ 3 นั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีรูปแบบเป็นของตนเอง และได้สะท้อนปรัชญาที่เขาเชื่อผ่านทางงานสถาปัตยกรรมชิ้นเล็กๆ ที่มีชื่อว่า A Forest for a Moon Dazzler
บ้านพักอาศัยขนาดเล็กหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณชายป่าโปร่งใกล้กับทะเล บ้านหลังนี้เกิดจากความตั้งใจส่วนตัวของ Benjamin ที่ต้องการจะสร้างบ้านให้แม่ของเขาอยู่ และด้วยความที่ตัวอาคารรายล้อมไปด้วยสภาพธรรมชาติ ในการออกแบบจึงให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ ผสมผสานกับการประยุกต์ภูมิปัญญาการก่อสร้างของท้องถิ่น โดยการนำวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นอย่างไม้ไผ่และไม้เนื้อแข็งมาใช้ในส่วนของพื้นและผนัง โครงสร้างของบ้านทั้งหมดจะใช้โครงสร้างเหล็กซึ่งมีความแข็งแรง และในระยะยาวจะใช้งานได้อย่างคุ้มค่ากว่า ตัวบ้านถูกแบ่งแยกเป็น 2 หลัง หลังหนึ่งเป็นส่วนของห้องครัว อีกหลังหนึ่งจะเป็นห้องนอน ทั้ง 2 หลังถูกคั่นกลางด้วย Court ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ในส่วนของผนังได้รับการออกแบบมาให้มีความโปร่งตามลักษณะของบ้านพื้นถิ่นในเขตร้อน ทำให้สามารถระบายอากาศได้ดี ผสานกับการกันแดดอย่างมีประสิทธิภาพในส่วนของหลังคา ทำให้อาคารหลังนี้มีภาวะน่าสบายตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ
คุณค่าของงานชิ้นนี้นอกจากจะช่วยสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่หลับ นอนแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของงานสถาปัตยกรรมที่สร้างอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญงานชิ้นนี้จะช่วยโน้มนำให้ผู้อยู่อาศัยได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ นำมาสู่วิถีชีวิตที่เรียบง่ายและยั่งยืนในที่สุด
อ้างอิง : archdaily, benjamingarciasaxe