วัสดุเหลือใช้ได้กลายเป็นอีกทางเลือกในการสร้างสถาปัตยกรรมในยุควิกฤติพลังงานเช่นทุกวันนี้ เพราะการผลิตวัสดุขึ้นใหม่ ย่อมหมายถึงการใช้พลังงานอย่างมหาศาล ในการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นวัสดุก่อสร้าง วัสดุเหลือใช้จึงกลายเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุด เพราะนอกจากจะไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการสังเคราะห์ใหม่แล้ว ยังช่วยลดพลังงานในการกำจัดและย่อยสลายอีกด้วย วัสดุเหลือใช้จึงเป็นทางเลือกที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย ทั้งต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและความต้องการของมนุษย์ เช่นเดียวกับ New Jerusalem Orphanage ที่ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวซึ่งจะช่วยตอกย้ำถึงความแรงของกระแสสถาปัตยกรรมจากวัสดุเหลือใช้
New Jerusalem Orphanage คือบ้านพักพิงสำหรับเด็กกำพร้า ในประเทศแอฟริกาใต้ ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจาก NGOs และองค์กรการกุศลต่างๆ ออกแบบงานสถาปัตยกรรมโดย 4D and A Architects โดยการนำตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้งานแล้วมาทำการประกอบขึ้นใหม่ เป็นบ้านพักเด็กกำพร้าสีสันสวยงาม ข้อดีอีกประการของการใช้วัสดุจากตู้คอนเทนเนอร์ คือ มีราคาที่ถูกกว่าบ้านที่สร้างด้วยวัสดุสมัยใหม่บนพื้นที่ใช้งานเท่ากันถึง 25 เปอร์เซ็นต์
ภายในบ้านพักแห่งนี้ สามารถรองรับเด็กกำพร้า 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ HIV ตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ได้รับการดัดแปลงให้รองรับกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบไปด้วย ห้องนอน ห้องพักผ่อน ห้องทำงาน และแกลเลอรี่งานศิลปะ ทั้งหมดได้รับการตกแต่งให้อบอุ่นใกล้เคียงกับบ้าน เพื่อชดเชยสิ่งที่เด็กๆ เหล่านี้ต้องขาดไป นอกจากนี้การตกแต่งภายในยังเน้นการใช้สีสันสวยงาม เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่มีชีวิตชีวา
แม้บ้านพักเด็กกำพร้าแห่งนี้จะมีแนวคิดการสร้างที่มิได้หวือหวา หากแต่อยู่บนพื้นฐานของความประหยัด เรียบง่าย ที่เน้นการใช้งานจริง ผนวกกับการรู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์และลูกเล่นในดัดแปลง ช่วยให้งานธรรมดาๆ ที่สร้างด้วยวัสดุเหลือทิ้งซึ่งไร้ประโยชน์ในสายตาหลายคน กลายเป็นงานออกแบบที่มีคุณภาพ และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอีกหลายๆ คน
อ้างอิง : inhabitat