จากพื้นที่รกร้างกลางชุมชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของเมือง Magdeburg ในประเทศเยอรมนี ถูกคนในชุมชนและ KARO Architecten ร่วมมือกันเนรมิตให้กลายเป็น ‘ห้องสมุดกลางแจ้ง’ (Open Air Library) ที่อาจทำให้นิยามของคำว่า ‘ห้องสมุด’ ในความคิดของทุกคนที่เข้ามายังที่นี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
มหากาพย์ของห้องสมุดสุดแนวแห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2005 ที่ชาวชุมชนได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมร่วมกันบนพื้นที่รกร้างแห่งนี้ ในครั้งนั้นผู้จัดงานได้ช่วยกันนำลังเบียร์เก่ามาเรียงซ้อนเป็นแนวกำแพงเพื่อสร้างขอบเขต ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์ให้กับงานและพื้นที่นี้ จากศักยภาพของที่ตั้งซึ่งอยู่บริเวณศูนย์กลางของชุมชน ประกอบกับพลังของประชาคมที่เล็งเห็นประโยชน์จากพื้นที่ผืนนี้ ส่งผลให้พื้นที่รกร้างแห่งนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นห้องสมุดชุมชนแนวใหม่ที่เน้นความไม่เป็นทางการ ทุกคนที่เข้ามายังห้องสมุดแห่งนี้จะไม่ต้องพบกับบรรณารักษ์ท่าทางเคร่งเครียด รวมทั้งกฎเกณฑ์และข้อห้ามต่างๆ จนราวกับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ห่างเหินกับผู้คน แต่จะได้พบกับความเรียบง่าย เป็นกันเอง และมีชีวิตชีวา ผนังอาคารทั้งหมดเป็นวัสดุรีไซเคิลที่ได้จากการนำผนังของโกดังเก่าที่สร้างตั้งแต่ปี 1966 มาประกอบขึ้นใหม่ โดยนำมาวางเรียงคล้ายแนวกำแพงจากลังเบียร์ที่เคยสร้างในครั้งก่อน โดยการออกแบบจะเน้นให้มีตัวอาคารน้อยที่สุด เพื่อเปิดพื้นที่ให้กลายเป็นลานสาธารณะที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ กลายเป็นแหล่งรวบรวมกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนมาไว้ที่นี่
ห้องสมุดแห่งนี้เป็นที่รวมของหนังสือกว่า 20,000 เล่ม ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการบริจาคของชุมชน รวมทั้งยังมีระบบการบริหารจัดการโดยคนในชุมชนเอง ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้พลังของคนในชุมชนเพื่อสร้างสรรค์พื้นที่กิจกรรมร่วมกัน ห้องสมุดแห่งนี้จึงเป็นเสมือนของ ‘ขวัญชิ้น’ ใหญ่ที่ชาวชุมชนต่างร่วมมือกันสร้างให้แก่กันและกัน
อ้างอิง: KARO-architekten, Arch Daily