Platanenkubus: อาคารต้นไม้มีชีวิต ปลูกได้ โตได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

แม้จะมีความพยายามในการสร้างสรรค์วัสดุก่อสร้างที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วัสดุที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่ว่าจะทำมาจากอะไรก็ตาม ต้องมีการผ่านกระบวนการสังเคราะห์หรือแปรรูป ซึ่งต้องใช้พลังงานและทำให้เกิดของเสียกลับสู่ธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นจากวัสดุเหล่านี้จึงมีส่วนในการทำลายธรรมชาติไม่มากก็น้อย คงจะดีไม่น้อยหากมนุษย์สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีความมั่นคงแข็งแรง สร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติและไม่ปล่อยของเสียกลับสู่ธรรมชาติเลย

Ferdinand Ludwig และ Daniel Schönle สองสถาปนิกชาวเยอรมัน ก็มีความคิดเช่นเดียวกันนี้ เขาทั้งสองจึงร่วมกันพัฒนาวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ โดยเป็นการสร้างอาคารขึ้นมาจากต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ อาคารที่ทั้งสองร่วมกันสร้างขึ้นนี้มีชื่อว่า Platanenkubus ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานแสดงพืชสวนประจำภูมิภาค ในเมืองนาโกลด์ (Nagold) เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมนี

อาคาร Platanenkubus นั้น สร้างขึ้นจากต้นเพลน (Plane Tree – พืชวงศ์ใกล้เคียงกับมะเดื่อ) และมีรูปทรงเป็นทรงลูกบาศก์ โดยนำมาประกอบเป็นผนังภายนอกของอาคาร ด้วยการนำต้นเพลนมาถักสานกันคล้ายกับโครงถักเหล็กรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดขนาดใหญ่ และมีโครงสร้างเหล็กคอยพยุงรับอยู่ และวางซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ โดยมีโครงสร้างเหล็กเป็นโครงคอยพยุงและให้ต้นไม้ได้เลื้อยเกาะ ข้อดีของอาคารประเภทนี้คือ มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ต่างจากต้นไม้ สามารถทนต่อภัยธรรมชาติได้ดี ทั้งลมพายุ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว ที่สำคัญยังเป็นวัสดุที่สร้างขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสังเคราะห์ ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน และไม่มีของเสียออกสู่ธรรมชาติเลยตลอดอายุขัยของอาคาร

ที่มา : ferdinandludwigarchdaily