บ่อยครั้งที่ข้อจำกัดมักถูกใช้เป็น ‘ข้ออ้าง’ ในการไม่พยายามสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่กับผลงาน Platform of Hope ชิ้นนี้ ที่ข้อจำกัดทั้งทางด้านเงินทุน ที่ดิน และแรงงาน ได้ถูกทลายลงอย่างราบคาบ โดยความร่วมมือกันของชาวบ้านในชุมชนที่มุ่งมั่นเอาชนะข้อจำกัดทั้งหลาย ที่นักออกแบบส่วนใหญ่ต่างคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ ซึ่งงานชิ้นนี้จะแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า ไม่จำเป็นเสมอไป
ด้วยที่ตั้งซึ่งอยู่ในชุมชน Korali ซึ่งถือเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงดาการ์ ประเทศบังคลาเทศ ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย หนึ่งในปัญหาหลักของชุมชนนี้คือ การขาดพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน Khondaker Hasibul Kabir ซึ่งเป็นทั้งสถาปนิกและอาจารย์ที่ BRAC University จึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหานี้ร่วมกับครอบครัว Pervez ซึ่งเป็นคนในชุมชน แต่ข้อจำกัดแรกที่พวกเขาต้องเผชิญคือ การไม่มีที่ดินสำหรับสร้าง เนื่องจากผืนดินทั้งหมดล้วนถูกจับจองด้วยบ้านเรือนที่ขึ้นกันอย่างเบียดเสียด และทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ สร้างพื้นที่สาธารณะนี้ในบึง Gulshan ซึ่งเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ที่ยังพอมีที่ว่างอยู่บ้าง ลานเอนกประสงค์ที่เป็นเสมือนเวทีกลางน้ำแห่งนี้จึงถือกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ข้อจำกัดอีกอย่างที่ต้องเจอคือ การขาดเงินทุนสำหรับจัดซื้อวัสดุและจ้างแรงงานก่อสร้าง ซึ่งในส่วนนี้ได้รับการแก้ปัญหาโดยการออกแบบให้ใช้โครงสร้างไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุพื้นบ้านที่หาง่ายและราคาถูก ในการก่อสร้างจะมีการระดมช่างพื้นบ้านในชุมชน มาร่วมกันลงแขกทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก นอกจากนี้ยังช่วยสร้างการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในชุมชน และเกิดความเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้ร่วมกัน
ด้วยเวลา 3 ปี ผ่านอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย Platform of Hope ชิ้นนี้จึงเสร็จสมบูรณ์ บนพื้นที่ขนาด 5.5 x 10 เมตรเหนือผืนน้ำ พร้อมประโยชน์ใช้งานหลากหลาย ทั้งสำหรับพักผ่อน จัดกิจกรรรมงานรื่นเริงต่างๆ มีห้องสมุดขนาดเล็กสำหรับเด็กๆ รวมทั้งมีการปลูกไม้เลื้อยเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน ลานเอนกประสงค์กลางน้ำแห่งนี้จึงมิใช่แค่พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมพียงเท่านั้น หากแต่เป็น ‘กล่องดวงใจ’ อันใหม่ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชีวิตและจิตวิญญาณของชุมชนแห่งนี้
อ้างอิง : Fengshui and Architecture