บ้านอิฐดินในศรีลังกา ดีไซน์ตอบรับวิถีมุสลิม สู้สึนามิด้วยพลังถิ่นที่

ภาพของคลื่นยักษ์สึนามิที่เข้าทำลายล้างเมืองริมทะเลละแวกเอเชียทั้งอินเดียและบ้านเรา ยังไม่นานไปนักจากความทรงจำของพวกเราในปลายปี 2547 นอกจากบ้านเราแล้วประเทศศรีลังกาในฝั่งที่ติดกับมหาสมุทรอินเดียก็โดนความเสียหายเหล่านี้ไปไม่น้อย อย่างที่เมือง Kirinda ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของศรีลังกา ในหมู่บ้านประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมง คลื่นสึนามิได้เข้าทำลายบ้านเรือนราบพนาสูร

จุดเริ่มต้นต่อมา Phillip Bay ผู้พัฒนาโครงการนี้จึงเสนอให้ Shigeru Ban สถาปนิกที่เราจะคุ้นเคยจากสถาปัตยกรรมท่อกระดาษ แต่ในงานนี้ Ban เลือกใช้แนวคิดใหม่ วัสดุใหม่ ในการสร้างงานสถาปัตยกรรมฉุกเฉินนี้ ตัวของ Ban เองบอกถึงโครงการนี้ว่าเป็นโครงการแรกที่เขาออกแบบสถาปัตยกรรมให้ชาวมุสลิม ทำให้แนวทางในการออกแบบพื้นที่จึงกลายเป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบมุสลิมที่มีการแยกส่วนชายหญิงชัดเจน เขาจึงออกแบบบ้านต้นแบบให้มีลักษณะเป็นพื้นที่เอนกประสงค์กลางบ้านเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว ทั้งเย็บแห รับแขก หรือกิจกรรมที่ไม่เฉพาะเจาะจงการใช้สอยนัก ในการแยกตัวบ้านออกเป็นสองส่วนแล้วคั่นด้วยพื้นที่เปิดโล่งเอนกประสงค์นี้ยังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศที่ดีขึ้น

จุดเด่นของงานนี้ที่น่าสนใจไม่แพ้การออกแบบพื้นที่คือการเลือกใช้วัสดุในท้องถิ่นเพื่อให้ตัวบ้านมีราคาถูก สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ชาวบ้านสามารถทำได้เองซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอีกทาง วัสดุที่เขาเลือกใช้ประกอบด้วยหลังคาไม้สัก ไม้มะพร้าว ส่วนตัวบ้านเป็นผนังอิฐที่ทำจากการอัดดินซึ่งหาได้ในถิ่นที่นั้นเอง

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่แลดูอยู่สบาย กลมกลืนไปกับธรรมชาติและวิถีชีวิต โดยที่ไม่ต้องพึ่งสูตรสำเร็จอย่างที่คุ้นเคยกับวัสดุเดิมอย่างท่อกระดาษ แต่คำตอบอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เอง ด้วยจุดโดดเด่นของแนวคิดงานนี้จึงเข้า shortlist ในเวที Aga Khan Award 2013

อ้างอิง: dezeen I AKDN