หากเอ่ยถึงการบริจาคเลือดแล้ว เหล่าคนขวัญอ่อนผู้กลัวเลือดคงจะอยากเป็นลมล้มพับกันเป็นแถว ไหนจะเห็นภาพว่ามีคนเอาเข็มใหญ่มาเจาะแขนคนที่มาก่อนกันแบบจะๆ คาตา สภาพคนที่นอนเรียงในห้องบริจาคเลือดเรียงกันเป็นเตียงยาวๆ พร้อมกับการบีบข้อมือให้เลือดสดๆ ไหลลงถุงรับเลือดที่เตรียมไว้ยิ่งชวนให้ขวัญเสียได้โดยง่าย จนทำให้คนที่คิดจะบริจาคเลือดหมดกำลังใจจนอยากจะเปลี่ยนใจก็มี
นั่นคือปัญหาจากการสร้างพื้นที่ทางสถาปัตย์ที่ไม่ได้เอาใจมาใส่รายละเอียดเมื่อเทียบกับงาน Prathama Blood Centre ที่เมืองอาเมดาบัด อินเดีย ณ ที่นี้สถาปนิกได้เสนอความเป็นได้ของสถาปัตยกรรมที่ไม่จำเป็นจะต้องให้อาคารสถานที่เป็นพื้นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะต้องแลดูหดหู่ ไม่ชวนให้เข้ามาใช้บริการ แต่สถาปนิกท้องถิ่นอินเดียคือ Matharoo Associates นำเสนอการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบเสียใหม่ เมื่อเข้ามายังศูนย์โลหิตแห่งนี้ จะได้พบกับอาคารที่เป็นคอนกรีตดูแปลกตากว่าธนาคารเลือดโดยทั่วไปแน่นอน แต่ที่ชวนให้อยากจะให้เลือดใจจะขาดคือ เมื่อเข้ามาภายในอาคารคอนกรีตเปลือยขนาดใหญ่ กลับพบว่าข้างในมีการออกแบบเป็นพื้นที่สูงใหญ่ซึ่งช่วยรองรับทั้งเรื่องระบายอากาศและสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้ทุกคน
แต่หัวใจของงานนี้ที่น่าสนใจคือ การออกแบบให้ห้องบริจาคเลือดเป็นเตียงธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา ด้วยการออกแบบให้ห้องนี้เป็นห้องที่รายรอบด้วยกระจกใส แต่มองออกไปภายนอกไม่เห็นคนเดินเข้าออกแต่เพียงอย่างใด เนื่องจากได้ออกแบบให้มีมูลดินขวางกั้นบังสายตาให้ไม่กังวลหรือจิตใจวอกแวกไปยังภายนอก แต่ให้จิตใจมุ่งไปยังการบริจาคเลือดแทน ในขณะเดียวกันก็ออกแบบให้แสงภายในสลัวซึ่งช่วยลดการเกร็งเพิ่มความผ่อนคลาย และในช่องระหว่างมูลดินที่กั้นสายตาโลกภายนอกไว้มีบ่อปลาคาร์ปให้ผู้บริจาคเลือดเพลินตากับปลาที่แหวกว่ายวนไปมาข้างหน้า
นับได้ว่าเป็นวิธีง่ายๆ ราคาไม่ต้องแพง แค่ใส่ใจคนที่มารับบริการในอาคารขึ้นอีกนิด สถาปัตยกรรมก็จะลดความกระด้างลงไปเยอะเลียทีเดียว
อ้างอิง: archdaily