‘Quick-Shelter Door’ ประตูพับหลบภัยฉุกเฉินสำหรับอาคารสูง

ปัญหาหายนะหรือภัยพิบัติจากธรรมชาติทุกวันนี้ดูจะมากขึ้น และทำให้โลกเราอยู่ยากขึ้นทุกวัน แม้แต่ในประเทศไทยที่แคล้วคลาดจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว ด้วยว่าห่างจากรอยเลื่อน ของเปลือกโลกพอควร และในสมัยก่อนเรายังไม่มีตึกสูงมากนัก แต่ในปัจจุบันดูจะพบการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกมากขึ้น แผ่นดินไหวจากชายแดนไทยล้วนสั่นไหวพาแกว่งไกวตึกสูงในกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวเราจะพบความสูญเสียทั้งจากทรัพย์สินและชีวิตผู้คนในตึกสูงเสียมาก จากสาเหตุที่ข้าวของมีความเสียหายและตกหล่นมาสู่ผู้ใช้อาคาร ถ้าโชคดีก็แค่โดนไหล่หรือส่วนไม่สำคัญของร่างกายนัก แต่หากของที่หล่นมามีขนาดพอสมควร เมื่อหล่นมากระทบศีรษะแล้ว ความเสียหายนั้นสามารถไปได้ถึงระดับความตายมาเยือน หรือพิการทางสมองขนาดหนักได้ จากแต่เดิมเมื่อเกิดแผ่นดินไหว คำแนะนำสำหรับการหนีในอาคารคือหลบอยู่ภายใต้โครงสร้างคาน เพราะจะช่วยเป็นที่หลบภัยได้หากมีการถล่มลงมา แต่เมื่อปัญหามีไว้แก้ไข อย่างที่นักออกแบบหนุ่ม Sung Young Um ค้นพบการออกแบบประตูหนีภัยแบบเรียบง่าย แต่แข็งแรงช่วยลดการสูญเสียของผู้ใช้ ด้วยแนวคิดที่มองประตูเดิมๆ ให้มีการใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยประตูนี้ควรอยู่ใกล้ประตูฉุกเฉินหรือประตูหนีไฟของอาคารสูง เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากของที่หล่นมากระทบตัวผู้คน อีกทั้งให้ใช้งานง่าย รับน้ำหนักจากแรงกระแทกได้สูง โดยการออกแบบเป็นสามเหลี่ยมเมื่อพับเป็นที่หลบภัยซึ่งเป็นรูปทรงที่เสถียรที่สุด

เขาออกแบบให้ประตูใช้งานง่ายแม้ในเวลาฉุกเฉินด้วยกระบวนการ 4 ขั้นตอนคือ ดึง  จับ พับ หลบ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวให้รีบวิ่งไปที่ประตูนี้แล้ว ‘ดึง’ ที่มือจับสีแดงกลางประตูเพื่อเอาประตูออกมา จากนั้นจึง ‘จับ’ ส่วนบนของประตูออกมาตามรูป ตามด้วย ‘พับ’ ให้วางกับพื้นเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และขั้นตอนสุดท้าย ‘หลบ’ เข้าไปในช่องว่างภายใต้สามเหลี่ยมนั้น พื้นที่ที่ออกแบบไว้จะมีความพอดีกับตัวคนสำหรับหลบภัยแผ่นดินไหวในอาคารสูงได้เป็นอย่างดี ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ก็ช่วยให้ประตูธรรมดาเป็นที่ช่วยชีวิตผู้คนได้ นั่นคือหลายปัญหามันก็แก้ได้ด้วยการออกแบบ แต่เราต้องลองมองของเดิมรอบๆ ตัวให้บวกมากขึ้นเท่านั้นเอง

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=jXohGaYBHa4″ width=”600″ height=”338″]

 

อ้างอิง: Trend Hunter, Yanko Design