‘RE:BUILD’ นวัตกรรมจากความขาดแคลนสู่โรงเรียนสำหรับผู้ลี้ภัยในจอร์แดน

jordane

หลายครั้งที่ความขาดแคลน นำมาซึ่งนวัตกรรมที่เกิดมาจากความพยายามดิ้นรนที่จะแก้ปัญหา เช่นเดียวกับโครงการโรงเรียนสำหรับผู้ลี้ภัย ภายใต้การสนับสนุนของ Pilosio Building Peace Organization ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับผู้ประสบภัยในประเทศจอร์แดน นวัตกรรมทางด้านการก่อสร้างชิ้นนี้ มีชื่อว่าเทคโนโลยี RE:BUILD ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างกึ่งสำเร็จรูป สำหรับสร้างสิ่งก่อสร้างชั่วคราว สามารถสร้างได้ง่ายในเวลารวดเร็ว

เทคโนโลยี RE:BUILD ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยสองสถาปนิกได้แก่ Pouya Khazaeli และ Cameron Sinclair ตัวโครงสร้างทำมาจากเหล็กที่สามารถถอดประกอบได้ โดยมีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้สะดวก ในการใช้งานโครงสร้างทั้งหมดจะถูกประกอบเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมคล้ายกับนั่งร้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร ในส่วนของผนังจะมีการนำโครงเหล็กตะแกรงมากรุทั้งด้านนอกและด้านใน และนำดิน ทราย หรือก้อนกรวดที่หาได้ในพื้นที่มาบรรจุบริเวณช่องว่างตรงกลางของผนัง การใช้ดิน ทราย หรือก้อนกรวดเป็นวัสดุก่อสร้างนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาด้านวัสดุก่อสร้างที่หาได้ยากในท้องที่ จนกลายเป็นที่มาของนวัตกรรมผนังแบบใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติของความเป็นฉนวนที่ดี พร้อมทั้งยังมีความแข็งแรง โดยมีต้นทุนในการก่อสร้างที่ถูกมาก และยังสามารถก่อสร้างได้โดยใช้คนเพียงไม่กี่คน

ในส่วนของหลังคา จะถูกปูด้วยแผ่นเหล็กบาง และนำดินมาปกคลุมเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดที่จะเข้ามาจากทางด้านบน รวมทั้งมีการเจาะช่องระบายอากาศบริเวณผนัง ทำให้ภายในอาคารซึ่งถูกใช้งานเป็นห้องเรียนมีสภาวะที่ไม่ร้อนจนเกินไป การใช้ดิน หิน และทราย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คล้ายคลึงกับอาคารพื้นถิ่นของจอร์แดน ทำให้เทคโนโลยี RE:BUILD กลายเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ที่พัฒนาต่อยอดโดยผสมผสานกับรากฐานของภูมิปัญญาดั้งเดิม และยังถือเป็นอีกตัวอย่างที่ดีของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการพยายามแก้ปัญหาบนความขาดแคลน

1

2

3

4

5

6

7

8

อ้างอิง : archdaily, Pilosio Building Peace