นักศึกษาจีนร่วมสร้างโรงเรียนกลางขุนเขา คืนจิตวิญญาณสู่ชาวเย้าแดง

ในทุกวันนี้ สิ่งที่ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในโลกต้องเผชิญไม่ต่างกันคือ การรุกคืบเข้ามาของความเจริญจากภายนอก ซึ่งมักจะนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชนกลุ่มน้อยอยู่เสมอ ชุมชนใดที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ก็จะสามารถดำรงเอกลักษณ์และรักษาวัฒนธรรมของตนเองให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ หากแต่ชุมชนของชนกลุ่มน้อยโดยมาก มักไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งหมู่บ้าน Hongdeng ถือเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยอีกแห่งหนึ่ง ที่ต้องสูญเสียความเป็นตัวตนให้กับการเข้ามาของความเจริญ แต่ด้วยความช่วยเหลือของนักศึกษาจิตอาสากลุ่มหนึ่ง จะช่วยให้จิตวิญญาณดั้งเดิมได้หวนมาสู่ชุมชนแห่งนี้อีกครั้ง โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นกลไกสำคัญ

Hongdeng เป็นหมู่บ้านของชาวเย้าแดง (Red Yao) ตั้งอยู่ในพื้นที่มณฑลกวางสี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ที่ผ่านมาจากการเข้ามาของความเจริญ ทำให้เด็กๆ ในหมู่บ้านจำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษา เด็กๆ เหล่านี้จึงต้องถูกส่งออกไปเรียนยังชุมชนที่ห่างไกลตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เกิดความห่างเหินจากครอบครัวและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าตนเอง ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมหลายอย่างของชนเผ่าจะต้องสูญสิ้นไปเพราะขาดผู้สืบทอด โชคยังดีที่มีกลุ่มนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจาก The Chinese University of Hong Kong ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และได้ช่วยกันสร้างโรงเรียนประจำหมู่บ้าน Hongdeng ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของชุมชนแห่งนี้

และเพื่อให้โรงเรียนที่สร้างขึ้นนี้มีความกลมกลืนกับชุมชนในทุกมิติ นักศึกษาจิตอาสาเหล่านี้จึงได้เข้าไปคลุกคลีและใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน เพื่อแสวงหาแนวทางออกแบบที่สนองความต้องการของชาวเย้าแดงได้ดีที่สุด จนเกิดเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่สร้างขึ้นจากวัสดุท้องถิ่น โดยใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่เรียนรู้มาจากชาวบ้าน งานทุกชิ้นจะก่อสร้างด้วยมือ และใช้แรงงานจากความร่วมใจของชาวบ้าน ภายในพื้นที่โรงเรียนแห่งนี้ประกอบด้วยอาคารเรียน 2 หลัง วางล้อมลานโล่งซึ่งใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ

โรงเรียนแห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของชุมชนโดยสมบูรณ์ ช่วยให้เด็กๆ รุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเดินทางออกจากชุมชนเพื่อไปเรียนยังที่ห่างไกลอีกต่อไป ทำให้ชุมชนมีความอบอุ่นและแน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ โรงเรียนแห่งนี้จะกลายเป็นที่บ่มเพาะเด็กๆ ชาวเย้าแดงรุ่นใหม่ ให้กลายเป็นผู้สืบทอดจิตวิญญาณของบรรพบุรุษให้อยู่คู่กับชนเผ่าและชุมชนนี้ต่อไป

อ้างอิง : The Architectural Review