กรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ได้รับผลพวงความเสียหายจากสงครามมาหลายต่อหลายครา ช่วงกลางทศวรรษที่ 90 รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูบริเวณใจกลางเมืองแห่งนี้ โดยเฉพาะในย่านธุรกิจให้มีสภาพที่สวยงามขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มพื้นที่สาธารณะลงไป หนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่ได้รับการวางแผนให้พัฒนาคือบริเวณ Samir Kassir Square ซึ่งอยู่บริเวณใจกลางย่านธุรกิจ โดยมี Vladimir Djurovic เป็นภูมิสถาปนิกผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุงในครั้งนี้
บนพื้นที่เล็กกะทัดรัดขนาด 815 ตารางเมตร ได้ถูกเนรมิตรให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างมากต่อผู้คนในเมือง ด้วยร่มเงาจากต้น ficus (พืชตระกูลไทร) ขนาดใหญ่ 2 ต้น ซึ่งตามแผนพัฒนาดั้งเดิมได้วางแผนไว้ว่าจะโค่นเจ้าต้นไม้ทั้งคู่นี้ทิ้งเสีย หากแต่ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ และเลือกที่จะเก็บต้นไม้ใหญ่ 2 ต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเอานี้ไว้ เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้ โดยทั้งสองต้นมีร่มเงาคลุมพื้นที่นี้ไว้ได้ทั้งหมด พื้นที่ว่างใต้ต้นไม้ถูกออกแบบให้เป็นลานไม้ ผสานไปกับแนวม้านั่งหินด้านหลัง ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการพักผ่อนได้เป็นอย่างดี บริเวณด้านหน้าที่ติดกับถนน ถูกจัดวางด้วยบ่อน้ำขนาดย่อม ช่วยสร้างบรรยากาศของความเป็นสถานที่พิเศษ และยังช่วยสร้างความชุ่มชื่นให้กับบริเวณโดยรอบ อีกทั้งเสียงน้ำยังช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับเมือง ช่วยให้ผู้คนที่เข้ามาในที่นี้จะเหมือนกับหลุดออกจากความวุ่นวายของเสียงรบกวนโดยรอบ
จัตุรัส Samir Kassir แห่งนี้จึงนับเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวเมืองเบรุต ทั้งการเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง เป็นปอดแห่งใหม่ของเมือง และเป็นที่พบปะกันของผู้คน สร้างความหลากหลายให้กับกิจกรรมภายในเมือง ช่วยให้ผู้คนที่อยู่ในเมืองเดียวกันเกิดความผูกพันระหว่างกัน ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นง่ายๆ หากไม่มีพื้นที่สำหรับรองรับเช่นนี้ จึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีอีกชิ้นหนึ่ง สำหรับเมืองทั้งหลายที่ต้องการจะปรับปรุงพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park) ในเมืองตน ได้นำไปปฏิบัติตาม
อ้างอิง : GreenProphet, akdn