ด้วยความที่แก่นของปรัชญาชินโตนั้น มุ่งเน้นความเชื่อในเรื่องความกลมกลืนสอดประสานกันของสรรพสิ่ง โดยเชื่อว่าจิตวิญญาณมีอยู่ในทุกสิ่งในธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติรอบตัว และด้วยความที่ วิคเตอร์ ซัมเมอร์ส (Victor Summers) ได้ซึมซับปรัชญานี้มาอย่างเต็มเปี่ยม จนได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้าง Shinto Cabin หลังนี้ขึ้น ในบริเวณชนบทอันห่างไกลแถบตอนกลางของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
ตัวอาคารตั้งอยู่ท่ามกลางภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติ บนทุ่งหญ้าโล่งกว้างที่รายล้อมไปด้วยเนินเขาขนาดเล็ก ที่ซึ่งความเจริญของเมืองยังเข้าไม่ถึง ด้านรูปแบบของอาคารได้หยิบยืมรูปลักษณ์มาจากอาคารแบบชินโต ที่สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นการออกแบบที่เรียบง่าย สอดคล้องกับการใช้สอยเป็นหลัก สิ่งสำคัญที่ผู้ออกแบบยังคงเคารพและพยายามรักษาไว้คือ ‘สัดส่วน’ ของอาคารซึ่งมีความเล็กและกะทัดรัด ทำตัวให้เล็กที่สุด เพื่อแทรกตัวเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อาคารหลังนี้จึงแสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติโดยรอบ ตามวิถีแห่งชินโตได้เป็นอย่างไม่ผิดเพี้ยน
แนวความคิดในใช้วัสดุในการก่อสร้างกระท่อมน้อยหลังนี้คือ ใช้ทรัพยากรเท่าที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เหลือเศษน้อยที่สุด โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้วัสดุราคาแพง และเพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุดดังที่ตั้งใจไว้ ไม้เก่าที่ใช้แล้วจึงได้กลายเป็นวัสดุหลักที่นำมาใช้ก่อสร้างอาคารหลังนี้ ไม้เก่าเหล่านี้จะถูกใช้ในส่วนประกอบของอาคารทั้งหมด ความดิบของไม้เก่าที่ผ่านการใช้งานแล้ว แสดงถึงความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงโดยไม่ผ่านการปรุงแต่ง เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติของชินโต มีเพียงกระจกและวัสดุมุงหลังคาที่เป็นแผ่นสังกะสีเท่านั้นที่เป็นวัสดุใหม่ ซึ่งวัสดุทั้งหมดนั้นสามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่นด้วยราคาที่ถูกมาก หากเทียบกับการใช้วัสดุใหม่ทั้งหมด Shinto Cabin หลังนี้แสดงให้เห็นว่า แนวคิดด้านความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม มิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แฝงอยู่ใน ‘แก่น’ ของปรัชญาในทุกศาสนา ที่ต่างก็มุ่งเน้นให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลไม่ต่างกัน
อ้างอิง ; inhabitat, Simple Shelter