บ้านผีเสื้อ จุดเริ่มต้นสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืนของชาวกระเหรี่ยง

TYIN Tegnestue Architects องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อมนุษยธรรมผ่านงานสถาปัตยกรรม ได้นำทีมสถาปนิกออกแบบบ้านสำหรับพักอาศัยของสถานเลี้ยงรับเด็กกำพร้า บ้านหนองบัว จังหวัดตาก (Ole Jorgen’s Orphanage) เนื่องจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ต้องการบ้านพักสำหรับเด็กๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

บ้านผีเสื้อ หรือ Soe Ker Tie Haus เป็นบ้านที่ผสมผสานระหว่างทักษะของคนในท้องถิ่น (ชาวกระเหรี่ยง) และความรู้ทางงานสถาปัตยกรรมของ TYIN ด้วยรูปทรงของหลังคาบ้านมีลักษณะคล้ายปีกของผีเสื้อจึงเป็นที่มาของชื่อที่ตั้งโดยชาวกระเหรี่ยง และหลังคาปีกผีเสื้อที่พิเศษนี้เอง จะช่วยส่งเสริมการระบายอากาศตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้เก็บน้ำฝนได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อสำหรับกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง

นอกจากนี้การสานไม้ไผ่เพื่อใช้เป็น facade ของบ้านยังเป็นลักษณะที่โดดเด่น สร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของบ้านผีเสื้อ เทคนิคนี้เป็นเทคนิคเดียวกับบ้านทั่วไปในแถบนี้ และวัสดุไม้ไผ่นี้ก็อยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างเพียงไม่กี่กิโลเมตร ส่วนโครงสร้างของบ้านนั้นทำจากไม้เนื้อแข็งยึดด้วยน็อตเพื่อความแข็งแรงและแม่นยำ และยังมีการยกส่วนของที่นอนให้อยู่เหนือพื้นดินเพื่อป้องกันความชื้นที่จะทำให้บ้านเสียหายได้

นอกจากเด็กๆ จะมีที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นแล้ว เรายังได้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดการใช้งานในแต่ละฟังก์ชั่น ความเข้าใจสภาพแวดล้อมโดยรอบ การเลือกใช้วัสดุ รวมถึงการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ผสมผสานรวมกันเป็นบ้านผีเสื้อทั้ง 6 หลัง  การร่วมแรงร่วมใจในครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืนในอนาคตของชาวกระเหรี่ยงก็เป็นได้


ที่มา: sutmundo/ TYIN Tegnestue Architects