‘Steel Yard’ ชุบชีวิตโรงงานร้างเป็นศูนย์สร้างสรรค์งานศิลปะสุดแนว

แทบทุกเมืองในโลกล้วนมีพื้นที่รกร้างที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ไม่ทุกเมืองที่จะสามารถจัดการกับพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่เป็นตัวแทนของการจัดการพื้นที่รกร้างในเมืองได้อย่างมีกึ๋นที่สุดชิ้นหนึ่ง นั่นคือ Steel Yard โครงการปรับปรุงโรงงานเก่าในย่านอุตสาหกรรมของเมือง Providence ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้กลายเป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์งานศิลปะสำหรับคนเมือง

บนแนวคิดพื้นฐาน ที่ต้องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทาง Klopfer Martin Design Group ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ จึงได้ทำการดัดแปลงโครงสร้างของโรงงานเดิมแห่งนี้ ให้กลายเป็นพื้นที่ใช้งานรูปแบบใหม่ที่ร่วมสมัย บนพื้นที่ 3.5 เอเคอร์ ที่ประกอบไปด้วย 3 อาคารหลัก ได้ถูกยกเครื่องใหม่ทั้งหมด อาคารก่ออิฐ 2 ชั้น ซึ่งเดิมใช้เป็นออฟฟิศและโรงงานทอผ้า ถูกดัดแปลงให้เป็น พื้นที่ทำงานของศิลปินและคาเฟ่เล็กๆ อาคาร 2 ชั้นขนาดเล็กอีกหลัง ถูกปรับให้เป็นส่วนบริหารและร้านค้าของโครงการ ส่วนอาคารขนาดยาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานเดิม ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ทำเวิร์คช็อป โดยอาคารทั้ง 3 จะตั้งล้อมรอบพื้นที่ลานอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น แสดงงานศิลปะ และออกร้านขายของ นอกจากนี้ยังเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับชุมชนโดยรอบ

มีการเก็บรักษาโครงสร้างดั้งเดิมของโรงงานซึ่งเป็นโครงสร้างเหล็กเอาไว้ และได้ออกแบบภูมิทัศน์สอดแทรกเข้าไปอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเวทีกลางแจ้งซึ่งมีการออกแบบอย่างง่ายๆ แต่ลงตัว ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้อย่างแผ่นเหล็ก ซึ่งใช้เป็นกำแพงกันดินมาปักลงบนพื้น เพื่อกั้นเป็นขอบเขตของเวที นอกจากนี้ผู้ออกแบบได้พยายามสอดแทรกธรรมชาติเข้าไปให้มากที่สุด ทั้งสนามหญ้า พื้นเวที รวมทั้งพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ตามมุมต่างๆ เป็นการเพิ่มชีวิตชีวาให้พื้นที่ ช่วยลดทอนความแข็งกร้าวและดุดันของเหล็กได้เป็นอย่างดี

ทุกวันนี้ Steel Yard แห่งนี้ ได้กลายเป็นชุมชนสำหรับศิลปิน ซึ่งใช้ชื่อกลุ่มว่า Steel Yard เช่นเดียวกัน โดยเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร ที่แห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมแห่งการสร้างสรรค์ของเมือง ซึ่งเปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้ามาร่วมได้อย่างอิสระ โดยจะมีการจัดคอร์สฝึกอบรมทางด้านงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ รวมทั้งงานโลหะ เซรามิค และแก้ว ให้กับผู้ที่สนใจอยู่เสมอๆ ทำให้โรงงานแห่งนี้ยังคงไม่ตาย หากแต่เปลี่ยนรูปแบบสินค้าที่ผลิตเสียใหม่ จากแต่เดิมที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม บัดนี้ได้กลายมาเป็นผลิต ‘ศิลปิน’ และ ‘งานสร้างสรรค์’ เพื่อป้อนสู่สังคม

ที่มา : ASLA