ศูนย์ชุมชนในเวียดนาม ‘อยู่เย็น เป็นสุข’ ด้วยวัสดุจากธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเวียดนาม จากประเทศเกษตรกรรมมาสู่แนวทางของอุตสาหกรรม ได้นำมาซึ่งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่นับวันช่องว่างระหว่างคนเมืองและคนชนบท จะยิ่งห่างกันมากขึ้นทุกขณะ ไม่แตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเพื่อเป็นการอุดช่องว่างนี้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยชลอไม่ให้ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำนี้ขยายตัวเร็วนัก ทีมสถาปนิกชาวเวียดนาม 1+1>2  จึงได้ออกแบบอาคารศูนย์ชุมชนขึ้นในชนบทอันห่างไกล ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชนบทในเวียดนาม ซึ่งในปัจจุบันยังประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตอยู่มาก

อาคารศูนย์ชุมชนแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้น ณ หมู่บ้าน Suoi Re จังหวัด Hoa Binh ทางตอนเหนือของเวียดนาม ใกล้กับกรุงฮานอย ตัวอาคารตั้งอยู่บนทำเลที่มีฮวงจุ้ยที่ดีเยี่ยม ด้านหลังอิงแอบกับภูเขา และหันหน้าออกสู่หุบเขากว้างเบื้องหน้า โดยสิ่งแรกที่ผู้ออกแบบคำนึงถึงเป็นหลักในการออกแบบอาคารหลังนี้คือ การนำวัสดุและทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดิน หิน และไม้ไผ่ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายที่สุดจึงถูกเลือกนำมาใช้ ตัวอาคารประกอบด้วย 2 ชั้น บริเวณฐานรากและผนังชั้นใต้ถุนก่อขึ้นจากหินผสมกับคอนกรีต เพื่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง โครงสร้างผนังชั้นบนทำจากผนังดินและมีโครงสร้างไม้ไผ่เพื่อรองรับหลังคา ซึ่งทำจากไม้ไผ่ทั้งหมดและมุงด้วยใบปาล์ม นอกจากนี้ยังมีการเจาะช่องแสงบนหลังคาเพื่อให้แสงสว่างสามารถสาดส่องเข้ามาภายใน ซึ่งสว่างพอสำหรับใช้ทำกิจกรรมในช่วงเวลากลางวัน

และด้วยความที่วัสดุประกอบอาคารมาจากธรรมชาติ ทั้งผนังดินและหลังคาใบปาล์มซึ่งมีความเป็นฉนวนอย่างดี จึงช่วยกันความร้อนจากภายนอก ผสานกับการวางช่องเปิดเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี ทำให้ผู้ที่ใช้งานภายในเกิดความรู้สึกเย็นสบายโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ผู้คนสามารถใช้งานอาคารได้อย่างหลากหลาย ทั้งสอนหนังสือเด็กเล็ก ประชุมชาวบ้าน เป็นพื้นที่เล่นของเด็กๆ รวมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งพื้นที่ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไม่ตายตัว ด้านหน้าของอาคารเป็นลานโล่ง สำหรับเป็นที่จัดกิจกรรมและเล่นกีฬากลางแจ้ง ซึ่งสามารถรองรับคนได้เป็นจำนวนมาก ช่วยส่งเสริมความเป็นศูนย์รวมของผู้คนได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ทั้งอยู่เย็นและเป็นสุข รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความสุขของชาวชุมชนที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อ้างอิง : inhabitatarchdaily