ตามปกติแล้ว เมื่อสถาปนิกได้รับโจทย์ให้ออกแบบอาคารสำหรับเด็กเล็ก สิ่งแรกที่ผู้ออกแบบมักนึกถึงคือ ความสนุกสนาน ภาพที่ปรากฏในความคิดของทุกคนจึงมักเป็นงานที่เต็มไปด้วยการใช้สีสันฉูดฉาดและอาคารรูปทรงแปลกๆ รวมทั้งเต็มไปด้วยเครื่องเล่นนานาชนิด ราวกับว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะเป็น ‘สูตรสำเร็จ’ ของการออกแบบอาคารสำหรับเด็กโดดทั่วไป หากแต่ในเนอร์สเซอรี่สำหรับเด็ก Taiyogaoka Hoikuen หลังนี้ Kengo Kuma สถาปนิกรุ่นใหญ่ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ ได้เลือกที่จะไม่เดินตามสูตรนี้ และทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป
แนวคิดในการออกแบบอาคารเนอร์สเซอรี่หลังเล็กๆ หลังนี้คือ สร้างบรรยากาศให้เด็กๆ ได้สัมผัสและใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด ตัวอาคารทั้งหมดเป็นอาคารชั้นเดียวเพื่อไม่ให้เกิดความแปลกปลอมกับสภาพแวดล้อมของเมืองอิชิกาวะ (Ishikawa) ประเทศญี่ปุ่น ตัวอาคารถูกวางแทรกตัวอยู่กับต้นไม้ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ทำการตัดทิ้ง มีรูปทรงที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา วัสดุหลักที่ใช้ทำผนังอาคารทั้งผนังภายนอกและผนังภายใน ทำจากไม้ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น สีของไม้ที่ใช้จะเป็นสีธรรมชาติที่ไม่ผ่านการแต่งสีใดๆ เพิ่มเติม แสดงถึงความอบอุ่นและใกล้ชิดกับธรรมชาติ และยังมีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน
ภายในได้รับการออกแบบให้มีบรรยากาศเหมือนถ้ำที่มีช่องเจาะมากมาย ทั้งสำหรับเชื่อมต่อระหว่างห้อง และช่องเจาะเพื่อรับแสงจากภายนอก บรรยากาศภายในมีตกแต่งที่เรียบง่าย เน้นที่การจัดเป็นห้องโล่ง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ตายตัว โดยสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามสถานการณ์ นอกจากอาคารหลังนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการออกแบบโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ด้วยการฉีกกฎเกณฑ์ที่เคยทำตามๆ กันมา และบัญญัติกฎข้อใหม่ขึ้น จนเกิดเป็นอาคารแนวใหม่ ที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ออกมาในทุกๆ องค์ประกอบของตัวงาน
อ้างอิง : inhabitat