‘The High Line’ ปรับรางรถไฟร้างให้เป็นสวนลอยฟ้ากลางป่าคอนกรีต

ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้เห็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างความยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่หลายๆ วิธี หนึ่งในวิธีที่ดูจะมีประสิทธิภาพและส่งผลในแง่บวกต่อสาธารณชนโดยรวมคงจะเป็นความพยายามที่บรรดานักคิดเหล่านี้เลือกใช้วิธีฟื้นฟู ปรับเปลี่ยน ตลอดจนการบูรณาการสิ่งที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ให้เกิดหน้าที่ใช้สอยแบบใหม่ที่เท่าทันกับยุคสมัยและความต้องการของผู้คนในเวลานั้นๆ ขณะที่ยังคงรักษาคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เดิมเอาไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด

ตัวอย่างแรกๆ ที่เข้าข่ายความคิดเรื่องความยั่งยืนดังที่กล่าวมานี้คงหนีไม่พ้นโครงการสวนลอยฟ้า The High Line ในนิวยอร์คเป็นแน่ เราขอย้อนประวัติคร่าวๆ ก่อนหน้าของ The High Line ให้พอเป็นกระสัยกันก่อน แต่เดิมสวนลอยฟ้าที่ว่าเคยเป็นทางรถไฟยกระดับที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1934 จนกระทั่งหยุดให้บริการลงในปี 1980 ผลที่ตามมาคือการละทิ้งให้ทางรถไฟสายนี้เหลือเพียงแค่ความทรงจำภายใต้ความรกร้าง จนกระทั่งกลุ่มผู้ประกอบการและเจ้าของพื้นที่บริเวณดังกล่าวพยายามล็อบบี้ทางการให้รื้อถอนเพื่อพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ต่อเมืองและธุรกิจของตัวเอง ในช่วงเวลาเดียวกัน Peter Obletz ที่อยู่อาศัยในย่านนั้นได้ลุกขึ้นเป็นผู้นำในการต่อต้าน เพราะเขาต้องการให้เก็บรักษาและฟื้นฟูการใช้บริการทางรถไฟสายนี้ขึ้นมาใหม่ แม้ในช่วงเวลานั้นความตั้งใจของ Peter จะไม่สำเร็จ แต่มันได้จุดประกายและส่งผ่านมายังกลุ่ม Friends of the High Line ที่ก่อตั้งขึ้นโดย Joshua David  และ Robert Hammond ในปี 1999 โดยทั้งคู่เลือกเสนอให้ปรับปรุงทางรถไฟสายนี้ให้เป็นสวนสาธารณะแทนที่การเปิดให้บริการแบบเดิม Friends of the High Line เริ่มระดมทุนอย่างจริงจังผ่านสื่อต่างๆ และเหล่าเซเล็บในอเมริกา ทั้งดารา นักร้อง และนักการเมือง เพื่อทำให้ความพยายามของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมาได้

The High Line เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา 3 ปีถัดจากนั้นก็มีการจัดการประกวดแบบเพื่อให้บรรดาสถาปนิกเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอโครงการและการก่อสร้างจริงอย่างเป็นทางการ โดยทีม James Corner Field Operations และ Diller Scofidio + Renfro ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทีมดำเนินงานในเวลานั้นด้วยแนวคิด eco-tecture ที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติบนรางรถไฟอันรกร้างแห่งนี้

ความน่าสนใจอย่างแรกของ The High Line คือ การที่ทีมออกแบบคงสภาพโครงสร้างเดิมของทางรถไฟสายนี้ที่มีจุดเด่นตรงการออกแบบให้ตัวรางวิ่งผ่านและผ่ากลางบล็อคของเมืองแทนที่จะวิ่งบนถนนสายหลักไว้อย่างครบถ้วน โดยเพิ่มรายละเอียดในการออกแบบอื่นๆ ที่แสดงถึงการเคารพและถ่อมตนต่อบริบทแวดล้อม ไล่เรียงไปตั้งแต่การออกแบบแสงสว่างในเวลาค่ำคืนโดยใช้หลอดไฟ LED เพื่อลดการรบกวนผู้คนที่อาศัยอยู่ การเลือกใช้ไม้จากแหล่งป่าควบคุมโดย FSC (Forest Stewardship Council) ตลอดจนการก่อสร้างที่มีการคิดอย่างรอบด้านเพื่อที่จะลดผลกระทบต่อพื้นที่รอบข้างให้มีน้อยที่สุด และที่น่าสนใจเข้าไปอีกก็คือ การเลือกผสมผสานพืชพรรณและต้นไม้ใบหญ้าที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในบริเวณพื้นที่รกร้างให้สอดประสานไปกับทางรถไฟเก่าและให้เข้ากับวัสดุก่อสร้าง โดยทีมออกแบบบอกว่าการใช้พืชพรรณที่เกิดขึ้นเองในพื้นที่เหล่านั้นก็เพื่อลดความยุ่งยากในการดูแลรักษา ไม่เพียงเท่านี้ พวกเขายังสร้างพื้นที่ที่เป็นมุมนั่งพัก เก้าอี้ และม้านั่งที่เชื่อมต่อมาจากพื้นคอนกรีตตามรายทาง ไปจนถึงที่นั่งพักตากอากาศในส่วน open space ด้วยการออกแบบให้แต่ละที่นั่งซ้อนทับกันอย่างพอดิบพอดีกับรางรถไฟเก่า อีกทั้งยังออกแบบให้มีล้อหมุนเพื่อให้ที่นั่งบางส่วนสามารถเคลื่อนที่คล้ายกับรถไฟด้วยเช่นกัน

แม้ว่า The High Line จะมีขนาดไม่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าแลนด์มาร์กเด่นๆ ในนิวยอร์คอย่าง Brooklyn Bridge หรือกว้างขวางเท่ากับ Central Park แต่สวนลอยฟ้าแห่งนี้ก็เป็นกรณีตัวอย่างของความร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชนที่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่โดยเลือกเก็บรักษา พัฒนา และฟื้นฟูจากการทิ้งร้างไปสู่สถานภาพใหม่ กับประโยชน์ใช้สอยในแบบของตัวเองที่ยังคงสานต่อหน้าที่ในการเชื่อมโยงและขนส่งความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนให้เข้าด้วยกัน นับว่าเป็นการพัฒนาของเก่าให้กลับมาใช้งานได้อย่างยั่งยืนอีกครั้ง

อ้างอิง: The High Line