อิฐเก่า-โรงเรียนใหม่ ดีไซน์ไฉไล ลดต้นทุนได้+ประหยัดพลังงานด้วย

ด้วยข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ใช้งานของโรงเรียนประถมแห่งหมู่บ้านถงเจียง (Tongjiang) ในเมืองเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนแห่งนี้ ทำให้สถาปนิก John Lin และคณะทำงาน Rural Urban Framework (RUF) มีแนวคิดที่จะสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบันซึ่งเพิ่มขึ้นมาก หากแต่ความตั้งใจดังกล่าวนั้น ใช่ว่าจะสามารถเกิดได้โดยง่าย เนื่องจากที่ตั้งของโรงเรียนแห่งนี้นั้นอยู่ในพื้นที่ชนบทอันห่างไกล ที่ชาวบ้านในชุมชนทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีรายได้ไม่มาก โอกาสในการจัดหาทรัพยากรในการก่อสร้างจึงน้อยตาม

เพื่อลดต้นทุนด้านวัสดุก่อสร้าง ผู้ออกแบบและคณะทำงานจึงมีแนวคิดที่จะใช้วัสดุที่ใช้แล้ว อย่างอิฐที่ได้จากการรื้อบ้านเรือนเก่าในแถบนี้ นำมาประกอบขึ้นใหม่เป็นอาคารเรียนขนาดใหญ่ ทดแทนอาคารเรียนหลังเดิม อาคารเรียนหลังใหม่นี้ประกอบด้วยห้องเรียน 11 ห้อง สามารถรองรับนักเรียนได้ถึง 450 คน เพิ่มขึ้นจากอาคารเดิมที่รองรับได้เพียง 220 คน โครงสร้างหลักของอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อความมั่นคงและแข็งแรง อิฐที่ได้จากการรื้อบ้านเก่าได้ถูกนำมาเรียงตลอดแนวผนังของอาคารในส่วนที่เป็นห้องเรียน สลับกับการเว้นช่องบานหน้าต่างเป็นระยะๆ

นอกจากแนวคิดในการประหยัดวัสดุในการก่อสร้างแล้ว แนวคิดในการประหยัดพลังงานยังเป็นอีกสิ่งที่ผู้ออกแบบได้คำนึงถึง ผนังในส่วนทางเดินมีการก่ออิฐโดยเว้นเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยม เพื่อกันความร้อนจากแสงแดด ในขณะที่อากาศยังสามารถถ่ายเทได้ดี ในส่วนหลังคามีการใช้ดินและปลูกพืชคลุมดินเพื่อลดความร้อน และยังมีการเจาะช่องแสงเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาภายในเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน ด้วยทักษะการออกแบบและการแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม อาคารเรียนหลังนี้ จึงถือเป็นอาคารที่สร้างขึ้นบนฐานของทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับองค์ความรู้สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ที่สำคัญ เป็นตัวแทนของการใช้ทรัพยากรเท่าที่มีได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

 

อ้างอิง : rufwork