ศิลปินชาวเยเมนใช้ศิลปะแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสันติ

เยเมนเป็นอีกประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางที่ประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากกระแสการต่อต้านของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเป็นไปอย่างเข้มข้นและยาวนานมาจนถึงจุดแตกหัก ทำให้การเมืองเมืองของเยเมนขาดเสถียรภาพและประสบกับความปั่นป่วนอย่างหนัก ล่าสุดจากผลการสำรวจของฟอร์บส์ นิตยสารการเงินชื่อดังของสหรัฐฯ รายงานว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจย่ำแย่เลวร้ายที่สุดของโลกคือ เยเมน ดินแดนที่เคยมั่งคั่งไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่กลับถูกรุมเร้าด้วยปัญหาความไม่สงบจากชนเผ่าภายในประเทศ รวมถึงภัยคุกคามจากเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์นานต่อเนื่องหลายปี  ในขณะที่ Sana เมืองหลวงของประเทศยังได้รับการโหวตให้เป็น 10 อันดับเมืองที่ไม่น่าอยู่ที่สุดในโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เยเมนไม่ได้แร้นแค้นศิลปินไปด้วย ประเด็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานานจึงถูกถ่ายทอดออกมาตามแนวกำแพงในเมืองหลวง โดยมี Murad Sobay ศิลปินแนว street art เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำแคมเปญสุดครีเอท ‘12th Hour’ เพื่อต่อต้านรัฐบาล โดยได้ชักชวนบรรดาเหล่าศิลปิน รวมทั้งคนทั่วไปผ่านทาง social network ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ยิ่งในปัจจุบันกระแสกราฟฟิตี้ (graffiti) หรือภาพวาดล้อเลียนตามฝาผนังหรือกำแพง ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ระบายอารมณ์ของพวกมือบอนเท่านั้น แต่ได้กลายมาเครื่องมือเพื่อสื่อ ‘สาร’ ของเหล่าศิลปินอิสระทั้งหลาย ซึ่งดึงดูดความสนใจของคนหมู่มากได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของการเข้าถึงได้ง่าย การได้มีส่วนร่วมของคนหมู่มาก บวกกับธรรมชาติของกราฟฟิตี้ ที่มักจะมีความน่ารักเจืออารมณ์ขันร้ายๆ ไว้เสมอ กับข้อความโดนๆ ที่สามารถสามารถเชื่อมโยงกับผู้คนได้ทุกชนชั้น ดังนั้นกราฟฟิตี้จึงสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าสนใจ

ในชั่วโมงแรกของของเเคมเปญ Sobay ได้นำเสนอเรื่องความรุนแรงกับอาวุธปืน กับข้อมูลอันน่าตกใจที่ว่าประเทศเล็กๆ ของเขามีผู้ถือครองอาวุธปืนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งกองทัพที่มีประสิทธิภาพสูงพร้อมปฎิบัติการทันที รวมถึงปัญหาความหลากหลายของเชื้อชาติซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ ชั่วโมงที่ 2 เป็นเรื่องของความขัดแย้งรุนแรงของชาวมุสลิมระหว่างนิกายชีอะห์และสุหนี่ ทำให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศ ชั่วโมงถัดมาเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ที่ประชาชนจำนวนมากถูกจับและหายตัวไปอย่างลึกลับ ‘The Walls Remember’ ที่เปิดพื้นที่ให้คนในครอบครัวหรือคนรู้จักมาวาดรูปใบหน้ารูปสเก็ตช์ หรือภาพ print และวันที่ของบุคคลที่หายไป ซึ่งแต่ละซีรี่ย์นั้นมีพลังเฉพาะตัวเพราะเกิดจากความรู้สึกส่วนลึกของคนในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ที่มากไปกว่านั้นมันแสดงให้เราเห็นว่า ‘ศิลปะ’ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้จริงๆ

อ้างอิง : Designboom