ม็อบกลางอากาศ…เสียงความคิดผ่านภาพจิตรกรรมที่สูงที่สุดในเอเชีย

เชื่อว่าหลายคนที่เคยตื่นตัวและตื่นเต้นกับคำว่า ‘ม็อบ’ มาก่อนคงรู้สึกคล้ายๆ กันว่า ณ บัดนาว ‘ม็อบ’  กลายเป็นเรื่องปรกติไปเสียแล้ว เพราะลำพังปัญหาชีวิตตัวเองที่ต้องผ่านพ้นไปให้ได้ในแต่ละวันก็เวียนหัวมากพอกัน จะเปิดดูทีวีแก้เครียดซะหน่อยก็ เอ้า! มาอีกแล้ว นู่นก็ม็อบ นี่ก็ม็อบ ไม่พอใจอะไรก็ม็อบ ท้ายที่สุดจึงลงเอยด้วยความชินชาและเลิกใส่ใจไปในที่สุด ซึ่งเมื่อเทียบกับภาพคนหาปลาบนยอดตึกสูงในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีนี้แล้ว ต้องเรียกว่า เป็นวิธีการดึงดูดความสนใจได้อย่างสันติและสร้างสรรค์ เป็นนิ่งที่สยบความเคลื่อนไหว ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ทว่าเรียกสายตาคนทั้งประเทศได้อยู่หมัด โดยภาพวาดนี้เป็นของศิลปินชาวเยอรมัน Hendrik Beikirch กับภาพพอทเทรทของชาวประมงวัย 60 ปีบนยอดตึกแหล่งขายส่งปลา Busan’s Fisher Union ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง Haeundae และ Gwangalli สองหาดดังอันเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กับข้อชวนคิดผ่านผิวหนังอันหยาบกร้าน และใบหน้าอันซูบผอมของชาวประมงในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมว่า ขณะที่เกาหลีกำลังพัฒนาเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วนั้น ก็ยังมีกลุ่มประชาชนเกาหลีในระดับล่างอีกจำนวนมากที่แม้อายุจะปาเข้าสู่เลข 6 แล้ว ก็ต้องเดินหน้าปากกัดตีนถีบ ใช้แรงงานอาทิตย์ละ 6-7 วันกับค่าจ่างอันน้อยนิดแถมไม่พอยาไส้กันต่อไป

ขณะเดียวกันที่นอกจาก Hendrick  จะใช้วิธีการวาดภาพแบบสดๆ ทั้งหมด ไม่ได้มีการร่างสเก็ตก่อนหรือใช้เครื่องโปรเจ็กเตอร์ช่วย เขายังได้ใส่ตัวหนังสือภาษาเกาหลีไว้ที่ใต้ภาพกับมุมมองบวกเพื่อสร้างกำลังใจให้คนกลุ่มนี้ว่า ‘ที่ไหนไม่มีอุปสรรค ที่นั่นก็ไม่มีความเข้มแข็ง’ โดยภาพวาดนี้มีฉากหลังเป็นอาคารพักอาศัย Haeundae I’Park ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง Daniel Libeskind อันเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมั่นคงของเกาหลีทั้งๆ ที่เมื่อไม่นานมานี้เกาหลีก็ยังเป็นประเทศที่จนอยู่เลย! และด้วยขนาดของภาพนี้ที่ความสูงถึง 70 เมตร จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้กลายเป็นจิตรกรรมที่สูงที่สุดในเอเชียอีกด้วย

ความคิดสร้างสรรค์แท้จริง ไม่มีกรอบ แต่เมื่อไหร่ที่คุณบอกว่า ‘เฮ้ย…มันเป็นไปไม่ได้หรอก’ เมื่อนั้นเอง คุณได้สร้างกรอบล้อมตัวเองไว้แล้ว เช่นตัวอย่างจากโปรเจ็กต์นี้…คิดได้ไง?! มันเป็นอะไรที่โคตร impact ค่ะ!

อ้างอิง : Public Delivery