เพิ่มศักยภาพพัฒนาเด็กออทิสติกคืนสู่สังคมผ่านละครเวที

เด็กที่ต้องเผชิญกับภาวะออทิสซึม (Autism) หาใช่เป็นเด็กที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ แต่เขาเหล่านั้นต้องการการดูแลที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการเข้าร่วมสังคมมากกว่าเด็กทั่วไป ความผิดปกติของระบบสมองและระบบประสาททำให้เด็กเหล่านี้มีความบกพร่องของการพัฒนาการในหลายๆ ด้าน เช่น การพัฒนาด้านภาษา การเข้าสังคม หรือมีพฤติกรรมความสนใจแบบซ้ำๆ และจำกัด ดังนั้นการเลี้ยงดูโดยความเข้าใจสามารถช่วยให้เขาอยู่ร่วมกับสังคมได้เป็นปกติ

แต่การเลี้ยงดูไม่ได้หมายถึงการกีดกันให้เขาอยู่ห่างจากสังคม ในทางตรงกันข้ามการเพิ่มโอกาสให้เด็กออทิสติกได้ใช้ชีวิตเหมือนเช่นคนปกติทั่วไปก็มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น ดังเช่นแนวคิดนี้ที่พัฒนาโดย Arts Centre Melbourne และ Arts Access Victoria โดยจัดแสดงที่โรงละคร Victorian Opera ในกรุงเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ทีมงานได้ปรับการแสดงละครเวทีเรื่อง Hansel and Gretel สำหรับเด็กออทิสติกโดยเฉพาะ อาทิ การลดระดับความดังของเสียงตลอดการแสดง ไม่ปิดไฟให้มืดสนิท การให้ผู้แสดงแนะนำตนเองว่าสวมบทบาทไหนก่อนเริ่มต้นแสดง ตัวละครทุกตัวไม่มีการแต่งหน้าทาปากเหมือนละครทั่วไป แต่เปิดโอกาสให้เด็กออทิสติกได้เห็นใบหน้าที่แท้จริง จำนวนคนดูถูกลดปริมาณลงเหลือเพียง 2 ใน 3 เพื่อให้เกิดพื้นที่ว่างที่ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กออทิสติกสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกมากขึ้น เด็กสามารถเดินเข้าออกระหว่างพื้นที่จัดแสดงและส่วนพักผ่อนได้ตลอดเวลา พร้อมจัดเตรียมพนักงานให้การดูแลเด็กออทิสติกโดยเฉพาะเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้เด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมก็สามารถเข้าชมละครได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในทุกรายละเอียดเพื่อเชื่อมเด็กออทิสติก พร้อมพัฒนาขีดความสามารถเพื่อสร้างโอกาสในการอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในอนาคต ดูแนวคิดดีๆ จากเขาแล้วหันมาย้อนมองดูประเทศเรา แค่มาตรการที่ดูเหมือนจะง่าย อย่างเช่น มาตราการกำหนดเรทติ้งการเข้าชมภาพยนตร์ตามโรงหนัง หรือการขึ้นข้อความคำเตือนก่อนละครฉาย ก็ดูเหมือนจะไม่มีผลนักกับกลุ่มผู้ชมที่ถูกกีดกัน เช่น เรายังเห็นเด็กวิ่งเข้าดูหนังภาพยนตร์ในโรงหนังสำหรับวัย 18 อัพได้ เรายังเห็นเด็กที่ดูละครช่วงค่ำโดยไม่มีผู้ปกครองแนะนำแม้ว่าจะมีการขึ้นคำเตือน ฉ เฉพาะผู้ใหญ่ หรือ น๑๓ อาจเป็นเพราะเราห่วงว่าเจ้าของหนัง คนทำละครจะขาดรายได้จากเงินโฆษณามากกว่าการปลูกฝังจิตสำนึกดีๆ ให้กับเด็ก …มันน่าเศร้านะครับ ที่เรามีแค่คำเตือนแต่ปฏิบัติไม่ค่อยจะได้ผลสักที

อ้างอิง : Haamor, Smallbusiness, Inhabitots, The age, ISSUU