ประติมากรรมขยะขวดพลาสติก…วอนโลกช่วยผลิตน้อยหน่อยจะได้ไหม

รู้กันมาบ้างว่าขวดพลาสติกหนึ่งใบต้องใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 450- 700 ปี หลายคนคงไม่ตื่นเต้นเพราะเคยได้ยินมาบ่อย ลองมาดูข้อมูลนี้กันหน่อย ในสหรัฐฯ ใช้ขวดน้ำพลาสติกประมาณ 50 ล้านล้านขวดต่อปี เท่ากับ 1,500 ขวดต่อวินาที และในประเทศไทยจากสถิติเมื่อปี 2550 เราใช้ขวดน้ำพลาสติก 3,850 ล้านใบต่อปี เท่ากับ 240 ขวดต่อวินาที แล้วถ้ารวมทั้งโลกมันจะได้ตัวเลขมหาศาลขนาดไหน คำถามก็คือเราต้องใช้เวลากี่ล้านปีจึงจะกำจัดพวกมันได้หมด ยังไม่นับรวมถึงขวดพลาสติกใหม่ที่กำลังถูกผลิตขึ้นในแต่ละวัน ถึงเวลาต้องหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนขยะขวดพลาสติกพวกนี้หรือยัง ศิลปินกลุ่มหนึ่งในนาม Luzinterruptus ก็คงอยากพูดแบบนั้น

ด้วยการแสดงผลงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ของพวกเขาชื่อว่า ‘เขาวงกตแห่งขยะพลาสติก’ (Labyrinth of plastic waste) ออกแบบให้มีลักษณะของเส้นทางคดเคี้ยวด้วยกำแพงโครงสร้างตารางเหล็ก ห้อยถุงพลาสติกความสูงประมาณ 11 ฟุต กว้าง 16 ยาว 23 ฟุต บรรจุขวดเปล่ามากกว่า 6,000 ใบ ผู้ชมสามารถนำขวดเปล่าไปหย่อนลงในถุงร่วมแสดงด้วยได้ โดยใช้หลอดไฟ LED ติดตั้งในแต่ละตำแหน่งของถุง สาดแสงจ้าราวสิ่งประดิษฐ์ชิ้นงามกลางถนนในเมืองใหญ่ยามค่ำคืน

‘Labyrinth of plastic waste’ จัดแสดงในเทศกาลสตรีทอาร์ตที่กรุง Katowice ประเทศโปแลนด์ ในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา หวังจะช่วยรณรงค์ให้เกิดการนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแทนที่จะผลิตเพิ่ม ดูจะเป็นนัยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้คล้ายกับเขาวงกตที่หาทางออกไม่เจอ เพราะมองไปทางไหนก็เจอแต่ทางตัน ยากจะแก้ไข ในเมื่อทุกอย่างมันเกิดจากนิสัยการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เราต่างก็คุ้นเคยกับมันไปแล้ว?

ปกติ Luzinterruptus มักจัด อินสตอลเลชั่น สตรีทอาร์ต ในที่สาธารณะเปิดถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม บอกสังคมให้ตระหนักถึงพิษภัยที่นับวันจะมากขึ้นจนยากเยียวยา งานมักดึงดูดความสนใจผู้ชม และมีคนติดตามงานสม่ำเสมอ พวกเขามักใช้แสงสว่างกับความมืดยามค่ำคืนนำเสนอด้วยเชื่อว่า แสงสว่างคือปลายพู่กัน และความมืดคือผืนผ้าใบ ชิ้นนี้ก็เหมือนกัน เราอาจเรียกอีกอย่างว่า นี่คือ ‘แสงสว่างแห่งวัฒนธรรมการบริโภคขวดพลาสติก’

อ้างอิง : luzinterruptus , Huffington Post