ศิลปินหญิงนั่งเย็บแบ็งค์ดอลล่าร์ ขอความยุติธรรมให้แรงงานกัมพูชา

เบื้องหลังเสื้อสูทแบรนด์ดัง ราคาแพง เมดอินกัมพูชาสักตัว คุณว่า ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง …หยาดเหงื่อ โดนกดขี่ และท้องที่หิว?

เมดอินอะไรไม่สำคัญ เพราะสินค้าที่ผลิตขึ้นจากมือมนุษย์ล้วนมีค่าในตัวของมันเอง แม้ยังไม่ติดตราสินค้าก็ตาม เพราะคิดดูว่า กว่าจะเสร็จเป็นเสื้อแบรนด์ดัง ฟินนิชชิ่งเนี้ยบกริ๊บออกมาขายหน้าร้านตามฤดูกาลได้ คนงานเย็บผ้าต้องนั่งหลังขดหลังแข็ง โดนเข็มทิ่มตำบ่อยสักเพียงไหน เพื่อจะเย็บประดิษฐ์เสื้อขนมิ้งตัวเดิมๆ ที่แก้แล้วแก้อีกให้คนรวยซื้อใส่ได้สำเร็จ ในขณะที่พวกเธอเองยังคงใส่เสื้อมอซอตัวเดิมและถูกกดขี่ค่าจ้างแรงงานน้อยกว่าความเป็นจริง โดยค่าจ้างรายวันของพวกเธออยู่ที่ประมาณสองดอลล่าร์กว่า ไม่ถึงสาม และนี่เองจึงเป็นที่มาของโปรเจ็กต์  Less Than Three  โดย Kat Eng ศิลปินหญิงเชื้อสายอเมริกัน-กัมพูชา กับวาทะกรรมในรูปแบบของป็อบอัพเพอร์ฟอร์แมนส์ที่ด้านหน้าร้าน H&M ใจกลางไทม์สแควร์ มหานครนิวยอร์ค โดยตลอด 8 ชั่วโมงของการแสดงนั้น Eng นำธนบัตรดอลล่ามาเย็บย้ำย้อนไปมาติดกัน สิ่งที่เธอทำ ไม่ใช่เพื่อต้องการระดมทุนช่วยเหลือใครใดๆ แต่เป็นการเรียกร้องแกมประชดประชันให้กลุ่มคนรวยนักบริโภคของถูกจากฝีมือแรงงานกัมพูชาได้ตระหนักว่า เสื้อผ้าที่พวกเขาใส่อยู่นั้นมาจากความเหน็ดเหนื่อยของกลุ่มคนงานหญิงในกัมพูชาที่โดนกดขี่ใช้แรงงานโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา คนงานตัดเย็บกว่าห้าแสนคนในพนมเปญได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับนำมาซึ่งความสูญเสีย โดยมีคนงานถูกฆ่าตายอย่างน้อยสี่คน และบาดเจ็บอีกกว่า 20 คน ทั้งนี้ H&M เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างจากอีกหลายบริษัทที่มีสินค้าผลิตจากกัมพูชา ทั้งกำลังถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในเรื่องการจ่ายค่าจ้างแรงงานที่ต่ำเกินควร

สิ่งที่ศิลปินสาวทำอยู่นี้อาจไม่สามารถช่วยคนงานหญิงกัมพูชาให้ได้รับความความยุติธรรมได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็เป็นกระบอกเสียงป๊อบอัพกลางเมืองชั้นดีให้กับแรงงานหญิงในพนมเปญจำนวนหลายแสนที่กำลังตะโกนด้วยน้ำตาร้องหาความยุติธรรม

[youtube url=”http://youtu.be/-842r36h-jo” width=”600″ height=”340″]

อ้างอิง:  ecouterre