Lisbon เปลี่ยนเมืองศิลเปรอะ ให้เป็นเมืองศิลปะ ด้วยกราฟฟิตี้

Lisbon เมืองหลวงของโปรตุเกส มีความสัมพันธ์กับกราฟฟิตี้มายาวนานแล้ว ตั้งแต่สมัยหลังการปฏิวัติในปี 1974 คนจนใช้วิธีระบายความอัดอั้นผ่านการพ่น tag (ชื่อที่ใช้ในการพ่นงาน) และพ่นสาดข้อความไว้ตามกำแพงและพื้นถนนของเมือง

จนผ่านไปหลายสิบปี มีสตรีทอาร์ติสหน้าใหม่เกิดขึ้น พวกเขาสร้างงานด้วยพื้นฐานของการมองว่า มันคือ ‘ศิลปะ’ ในขณะที่คนในชุมชนยังติดกับภาพเดิมๆ จึงไม่เคยสนใจ ‘ขยะ’ เหล่านั้นเลย และแม้จะมีงานที่ ‘เจ๋งจริง’ แทรกตัวให้เห็น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีงานสไตล์ ‘พ่นแหลก’ ปะปนอยู่จนแยกไม่ออกว่าอันไหนศิลปะหรือความเสื่อมโทรม กลุ่มสตรีทอาร์ติสจึงวางแผนทำงานร่วมกันเพื่อหวังสร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้องให้กับชุมชน โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวกับแคมเปญรีไซเคิลที่มีการเพ้นท์รถขนขยะและถังขยะนำไปวางไว้ทั่วเมือง จนเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับศิลปะ ซึ่งคนในชุมชนเริ่มหันมามองด้านดีของสตรีทอาร์ตและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  แคมเปญนี้จัดได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเองก็มีวิสัยทัศน์ที่ดี โดยในเมื่อจุดเด่นของเมืองคือศิลปะข้างถนนอยู่แล้ว ก็ดันให้เป็นจุดขายของเมืองเพื่อเชิดหน้าชูตาเมืองไปเสียเลย!

มีการทำเว็บไซด์บอกพิกัดของที่ตั้งผลงานสตรีทอาร์ต เพื่อให้คนในชุมชนได้เข้ามาทำความรู้จักและเพื่อใช้ติดต่อกับผู้ที่สนใจศิลปะจากทั่วโลก แทนที่จะจ้างคนงานมาขัดล้างทำความสะอาดทาสีใหม่ให้ตึกเก่าซอมซ่อที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน รัฐบาลก็ให้พวกศิลปินกราฟฟิตี้เข้ามาใช้พื้นที่สร้างงานแทน ซึ่งจากโปรเจ็กต์ที่ผ่านมาทั้งหมดของกลุ่มศิลปินข้างถนนก็ได้พิสูจน์ให้ชุมชนเห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงในงานศิลปะ พวกเขาสามารถเอาชนะใจชุมชนได้ขาดลอย ทั้งเจ้าของตึกและอาคารเองก็อ้าแขนเปิดรับผลงานขนาดมหึมาเพื่อมาประดับไว้บนผนัง จนเกิดเป็น Lisbon Urban Art Gallery ขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าผลงานศิลปะที่ขึ้นไปพ่นหรือเพ้นท์นั้นจะต้องสามารถลบออกได้ในภายหลัง และต้องมีการเสนออาร์ตเวิร์คเพื่อให้เจ้าของตึกพิจารณาอนุญาตเสียก่อน ทั้งยังมีการคิวเรทศิลปินระดับโลกเข้ามาปีละสี่ครั้งเพื่อผลัดเปลี่ยนแสดงงาน กลายเป็นจุดขายที่แข็งแรงของเมือง นำนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ปีละมหาศาล ในทางกลับกัน ขณะที่การขับเคลื่อนศิลปะดำเนินไป แท็กชื่อทั้งหลายที่เคยเห็นพ่นไว้ตามป้ายรถเมล์หรือร้านค้าต่างๆ ก็มีจำนวนลดน้อยลงกระทั่งหายไปในที่สุด และทั้งหมดนี่เองจึงทำให้ Lisbon กลายเป็นตัวอย่างระดับโลกของเมืองที่เปลี่ยนแปลงทัศนะคติชุมชนด้วย urban art

(ผู้เขียนรำพึง) จะว่าไป ตึกร้างในประเทศไทยก็มีอยู่เยอะ หากสร้างเป็นโปรเจ็กต์ Thailand Urban Art กับเขาบ้าง คิวเรทศิลปินท้องถิ่นเข้ามาหมุนเวียนจัดแสดงงานในพื้นที่ตึกร้างของแต่ละมุมเมือง ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการท่องเที่ยวที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ไม่ยาก ทั้งเชื่อว่า ผลงานที่เกิดขึ้นจากศิลปินที่อาศัยอยู่ต่างทิศต่างถิ่นแต่ใน ‘ประเทศไทยเดียวกัน’ จะทำเกิดมุมมองใหม่ๆ ส่งผลต่อการขับเคลื่อนสังคมแน่

[youtube url=”http://youtu.be/Hi8WqdUjYQ8″ width=”600″ height=”338″]