โลกเราร้อนขึ้นทุกวันจริงปะ? แถมหลายคนยังเริ่มตระหนักและร่วมกันรณรงค์รูปแบบแตกต่างกันไปเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเราถือเป็นเรื่องดี แต่หากพูดถึงเรื่องโลกร้อน คุณนึกถึงอะไร? หนังสือ The Inconvenient Truth? หมีขั้วโลก? …แล้วเรื่องรีไซเคิลล่ะ? พลาสติก? ขยะ? เครื่องจักร?
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่สมองเราจะเชื่อมโยงโดยอัตโนมัติเช่นนั้น เพราะเงื่อนงำที่บ่งชี้ล้วนมาจากสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่เราเห็นกันจนเฝือ จนบางครั้งทำให้เรามอง ‘ปัญหา’ ว่ากลายเป็นเรื่อง ‘ธรรมดา’ ไป
แต่การ์ท บริทซ์แมน เป็นคนหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า ในการจะชี้ให้คนอื่นเห็นถึงปัญหานั้นไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเดิมๆ เสมอไป ด้วยการสนับสนุนขององค์การฟูลไบรท์ แคนาดาร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเนบราสก้า ดีไซเนอร์ผู้นี้และนักศึกษามหาวิทยาลัยเนบราสก้าอีกหลายชีวิตได้ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีชื่อว่า Pop Culture ขึ้น โดยมีจุดประสงค์ให้งานศิลป์ชิ้นนี้กระตุ้นให้ผู้พบเห็นฉุกคิดถึงเรื่องวัฒนธรรมการบริโภคและการรีไซเคิล โดยขวดน้ำพลาสติกกว่า 1,500 ขวดได้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ของของเหลวหลากสีสันและถูกเรียงร้อยอย่างบรรจงเล่นระดับกันไป จนก่อเกิดเป็นซุ้มแสนสวยที่นอกจากจะเป็นงานศิลปะแล้วยังใช้เป็นร่มบังแดดให้รถยนต์ได้ด้วย นับเป็นงานศิลปะที่ไม่ต้องใช้วัสดุหรือเทคนิควิจิตรเลิศเลอ แต่สื่อความได้โดนใจจริงๆ
ถึงตอนนี้คงหมดยุคการกระตุ้นพฤติกรรมด้วยสิ่งไม่พึงประสงค์แล้ว การชวนให้คนนึกถึงการรีไซเคิลด้วยรูปขยะมากมายฤาจะสู้การสร้างความตระหนักรู้ด้วยสิ่งสวยงามแบบนี้ได้ แค่ได้เห็น ไม่ใครก็ใครก็เป็นอันต้องทึ่ง และอดไม่ได้ที่จะคล้อยตาม ท้ายสุดแล้ว… สิ่งที่สร้างพลังทางบวกได้ดีที่สุด ก็หนีไม่พ้นสิ่งเร้าทางบวกนั่นเอง
อ้างอิง : Garth Britzman