ใครที่เล่นเฟซบุ๊คเป็นประจำ คงจะพอเคยผ่านตาเพจที่ใช้ชื่อว่า The Southeast Asia Movie Theater Project และภาพถ่ายโรงภายนตร์ stand alone เก่าแก่ตามเมืองต่างๆ หลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เจ้าของเพจโพสต์ให้เห็นอยู่เป็นประจำกันบ้าง ภาพถ่ายเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เราตื่นตะลึงเมื่อรู้ว่าในบ้านเรา (และประเทศเพื่อนบ้าน) มีโรงภาพยนตร์ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามมากมายถึงขนาดนี้อยู่ด้วยเท่านั้น แต่ยังได้เห็นอีกว่าทุนนิยมและค่านิยมบางอย่างได้ทำให้เหล่านายทุนค่อยๆ ทยอยรื้อถอนทำลายโรงภาพยนตร์ stand alone เก่าแก่ที่ว่า เพื่อนำที่ดินไปพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสร้างธุรกิจที่มีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำมากกว่า
เจ้าของโปรเจ็คต์นี้คือ Philip Jablon ช่างภาพอเมริกันที่เข้ามาทำงานในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปลุกกระตุ้นเรื่องการอนุรักษ์โรงภาพยนตร์เก่ามา โดยเขาได้ตระเวนบันทึกภาพและเรื่องราวของโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ปี 2009 โรงภาพยนตร์หลายแห่งที่ Jablon บันทึกไว้เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่ถูกสร้างขึ้นช่วงต้นและกลางศตวรรษที่ 20 และแน่นอนว่าจะไม่มีการสร้างสถาปัตยกรรมแบบนี้อีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน (และอีกหลายแห่งก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น โรงภาพยนตร์ที่ในอดีตกองทัพเป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อใช้เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ) แต่ที่ Jablon บอกว่าสำคัญมากกว่างานออกแบบเก่าแก่ที่หาอีกไม่ได้แล้วก็คือ โรงภาพยนตร์แบบ stand alone ยังเป็นศูนย์รวมของชุมชน ดังนั้นเมื่อมันถูกทำลายและสร้างใหม่เป็นแบบซีนีเพล็กซ์ คอมเพล็กซ์ อะไรแบบทุกวันนี้ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชุมชนดังกล่าวก็จะหายไปด้วย
ล่าสุด Jablon ยังมีนิทรรศการภาพถ่าย ‘Future’s Ruins’ ที่ H Gallery (จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2559) โดยได้มีบทสนทนาระหว่าง Jablon และคิวเรเตอร์บางท่านไว้ถึงสถานการณ์โรงภาพยนตร์ stand alone ในบ้านเราที่น่าคิดไว้ว่า ในขณะที่โรงหนังลิโด และสกาล่า อาจกลายเป็นศูนย์การค้าแทนในอีกไม่ช้าก็เร็ว ในเมืองอื่นๆ อย่าง สิงคโปร์ ปีนัง กลับมีนักเคลื่อนไหวช่วยปลุกกระแสจนสามารถดันโรงภาพยนตร์เก่าๆ ให้กลับมาเปิดให้บริการใหม่ได้
ก็นับว่านอกจากภาพถ่ายของ Jablon จะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่สวยงามและกำลังเลือนหายแล้ว ก็ยังกระตุ้นให้เราคิดอะไรบางอย่างได้ดีเหมือนกัน
อ้างอิง: SEA Theater, Nation Multimedia, Asia Society