ขับไปไหนขอนั่งไปด้วย ช่วยกันประหยัดพลังงานกับ Carma Hop

วีรกรรมที่ทางบ้านผมไม่เคยทราบจนถึงวันนี้ ก็คือ การเดินทางไปจังหวัดตราด เพื่อนั่งเรือข้ามไปเกาะช้างด้วยวิธีการโบกรถ แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงวัยนักศึกษา แต่เหตุผลหลักก็คือ อยากเดินทางแต่ไม่มีเงินในกระเป๋า แม้ว่าในหลายๆ ประเทศ การโบกรถอาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากรรมบนท้องถนน แต่แนวคิดของการแบ่งปันเบาะนั่งที่ว่างเปล่าเพื่อคนที่ต้องการก็ยังดีเยี่ยมอยู่ไม่น้อยถ้าเราสามารถหามาตรการป้องกันภัยได้

ในบ้านเราเคยมีโครงการ Car Pool ‘ทางเดียวกันไปด้วยกัน’ หรือโครงการ ‘รวมพลังหารสอง’ ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ สพช. เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล อันมีส่วนช่วยลดปัญหาการจราจร ลดปัญหามลภาวะ พร้อมทั้งลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีการรณรงค์ในหลายๆ สื่อ แต่ในแง่ของการปฏิบัติเป็นไปได้ยาก อาจเป็นเพราะความหวาดระแวงไม่ไว้ใจใคร ความยืดติดในความเป็นส่วนตัว หรือการขาดเครื่องมือเชื่อมต่อระหว่างผู้ขับขี่และผู้อาศัยรถยนต์ขาดประสิทธิภาพ จึงทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

แต่ใช่ว่าแนวคิดของการโบกรถแบบใช้งานเยี่ยมจะเป็นไปไม่ได้ เจนนี โอไบรอัน ผู้ก่อตั้งโครงการ Lowrence OnBoard ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Carma Hop ในเมืองโลเรนซ์ เมืองเล็กๆ ในแคนซัส ซิตี้ ประเทศอเมริกา เนื่องจากเมืองที่เธออาศัยมีขนาดเล็ก ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกเท่าไรนัก รถยนต์จึงกลายเป็นยานพาหนะประจำครอบครัวสำหรับเดินทางไปในที่ต่างๆ เธอจึงคิดว่า ถ้าเรานำรูปแบบการโบกรถมาปรับใช้กับชุมชนแห่งนี้ น่าจะมีส่วนช่วยให้เราลดค่าใช้จ่ายในการซื้อรถยนต์ส่วนตัว อีกทั้งการโบกรถช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่เธอต้องแก้ปัญหาก็คือ การสร้างความปลอดภัยสูงสุด ทั้งผู้ขับรถและผู้โดยสาร เธอจึงคิดค้นระบบลงทะเบียนบันทึกประวัติ เจ้าของรถจะได้รับป้ายสัญลักษณ์ติดบริเวณหน้ากระจก ในขณะที่ผู้โดยสาร (ผู้โบกรถ) จะมีแผ่นกระดาษพับสีเขียวพร้อมปากกาสำหรับเขียนจุดหมายปลายทางที่เขาต้องการเดินทาง แต่ละท่านจะมีบัตรประจำตัวเพื่อใช้ตรวจสอบเพิ่มความปลอดภัย เพียงเท่านี้เราก็สามารถยืนโบกรถภายในเมืองได้อย่างสบายใจ ทั้งนี้ทีมงานได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Carma Hop app บนสมาร์ทโฟนเพื่อตรวจสอบข้อมูล เมื่อเราขึ้นรถผู้โดยสารจะกดปุ่ม Start Trip พร้อมเลือกรายชื่อเจ้าของรถที่แสดงไว้บนหน้าจอ และกดปุ่ม End Trip เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง ผู้ขับรถจะได้รับสินน้ำใจจำนวน 23 เซ็นต์ต่อหนึ่งไมล์สำหรับค่าน้ำมัน

พัฒนาการของแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อความต้องการ และอุดรอยรั่วปัญหาในอดีต ผมได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ อย่าง Car Pool ‘ทางเดียวกันไปด้วยกัน’ หรือโครงการ ‘รวมพลังหารสอง’ จะนำแนวคิดกลับมาพัฒนาให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผมคืออีกหนึ่งคนที่หลีกเลี่ยงการขับรถและพร้อมเป็นตุ๊กตาหน้ารถให้กับใครหลายๆ คน อิ อิ

[vimeo url=”http://vimeo.com/88601257″ width=”600″ height=”350″]

อ้างอิง : ทางเดียวกันไปด้วยกัน, Lawrence OnBoard