เสริมสุขอนามัย+สร้างประโยชน์จากกองน้องเหม็นในพื้นที่ด้อยพัฒนา

ตัวเลขกว่า 2.6 พันล้านบนโลกใบนี้ เป็นตัวเลขของประชากรที่ไม่มี ‘ส้วม’ ใช้อย่างสุขลักษณะ กองน้องเหม็นที่ไม่น่าเสน่หากลับโดนทิ้งขว้าง (นอกห้องส้วม) อย่างไม่มีเยื่อใย กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั้นเยี่ยมที่ส่งผลลบให้กับผู้คนในชุมชน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าประชากรกว่า 1.8 ล้านคนต้องเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง และ 90% จากตัวเลขดังกล่าวเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

ทีมงาน Clean Team นำปัญหาที่ค้นพบมาพลิกแนวคิดเปลี่ยนกองน้องเหม็นให้เป็นธุรกิจเพื่อชุมชน โดยเลือกเมือง Kumasi จากประเทศกาน่า เป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนาโครงการ เหตุเพราะเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ มีประชากรสูงถึง 2 ล้านคนแต่กลับมีระบบสุขลักษณะที่ต่ำมาก 60% ของประชากรใช้ห้องน้ำสาธารณะที่ขาดสุขลักษณะที่ดี คนท้องถิ่นเปรียบเทียบแบบติดตลกว่า “กลิ่นเหม็นที่นี่เลวร้ายจนคุณได้ยินมันตะโกนออกมา”

Clean Team วิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดโดยเชื่อมต่อปัญหาด้านสุขลักษณะกับความต้องการของคนท้องถิ่น ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เกิดต้นแบบการจัดการกองน้องเหม็นแบบครบวงจร ทุกครัวเรือนเสียค่าเช่าโถส้วมแบบถูกสุขลักษณะในราคาถูกที่มาพร้อมกับงานบริการที่ดีเยี่ยมจาก Clean Team ภายในโถส้วมมีระบบ Bio-Digest เพื่อย่อยสลายกองน้องเหม็น โดยมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บกองน้องเหม็นให้บริการถึงหน้าประตูสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง กองน้องเหม็นแต่ละครัวเรือนจะถูกขนส่งไปยังโรงงานเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพและผลิตปุ๋ยออร์กานิกสำหรับเกษตรกรรม เปลี่ยนกองน้องเหม็นที่เราเมินหนีกลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับคนในชุมชน

เหตุที่ Clean Team พุ่งประเด็นไปที่ครอบครัวแทนการจัดเตรียมห้องน้ำสาธารณะ เพราะทีมงานเชื่อว่า จุดเริ่มต้นของครอบครัวที่ดีจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพ และนี่คืออีกหนึ่งแนวคิดที่พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมกับคุณภาพชีวิตดีดีอย่างยั่งยืน

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=5cBUONzSx3U” width=”600″ height=”340″]

 

* ทีมงาน Clean Team เป็นการร่วมมือกันระหว่าง The Kumasi Metropolitan Assembly, Unilever, WSUP, IDEO.org และ Hogan Lovells

อ้างอิง : Clean Team Toilets