ชาวเคนยาสุดแฮปปี้ มีครัวใหม่ให้ใช้ฟรี เพียงแค่เอาขยะมาแลก

เมื่อแก๊สหุงต้มเป็นสิ่งราคาแพง ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเคนยาจึงเลือกใช้ไม้และถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ซึ่งแม้จะได้มาในราคาถูก แต่เชื้อเพลิงประเภทนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย นอกจากป่าไม้จะลดลงแล้ว ผู้คนยังเป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันการหุงต้มก็ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเช่นกัน

ด้วยเล็งเห็นปัญหานี้พลางสังเกตได้ว่า ปริมาณขยะที่ทิ้งกันอยู่เกลื่อนในเคนยาและประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงมีจำนวนมหาศาลจนน่าจะนำมาทำอะไรสักอย่าง สถาปนิกนาม Jim Archer จากไนโรบีจึงคิดหาทางแก้ปัญหาด้วย Jiko ya Jamii (Community Cooker) ซึ่งหมายถึง ‘ครัวชุมชน’ หรือเครื่องหุงต้ม ที่นอกจากจะสร้างได้ง่ายด้วยน้ำมือชาวท้องถิ่นแล้ว ราคาก่อสร้างก็ไม่แพง และที่สำคัญที่สุดคือใช้ฟรี! โดยชาวบ้านเพียงแค่รวมรวมขยะมาแลกกับเวลาที่จะใช้ทำอาหาร ต้มน้ำ หรือกลั่นน้ำดื่ม (ใกล้ๆ กับเตายังมีกระทะร้อนสำหรับต้มไข่หรือทำอาหาร รวมทั้งคอกกั้นสำหรับอาบน้ำอุ่นด้วย) ส่วนคนอื่นๆ ก็สามารถจ่ายเงิน 5 ชิลลิงเคนยา (ประมาณ 6 เซ็นต์สหรัฐฯ) เพื่อมาใช้งานได้เช่นกัน เมื่อได้ขยะมา หน่วยงาน Ushirika wa Usafi (แปลได้ว่าบริษัทแห่งความสะอาด) ซึ่งเป็นองค์กรของชุมชนก็จะจัดการแยกขยะ และนำขยะที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้มาเป็นวัตถุดิบที่จะทำให้เตาหุงต้มนี้ทำงานต่อไป ส่วนพลาสติก กระดาษ และขยะอื่นๆ ที่เป็นเชื้อเพลิงไม่ได้ก็จะถูกจำกัดโดยการเผาด้วยความร้อนสูงถึง 875 องศาเซลเซียสซึ่งทำให้ขยะหมดไปโดยไม่ส่งกลิ่น โดยครัวชุมชนนี้ได้ทดลองนำร่องที่ชุมชน Kibera ในกรุงไนโรบีและก็ได้ผลเป็นอย่างดี

ที่สำคัญ นอกจากความสามารถในการหุงต้มแล้ว ครัวชุมชนนี้ยังมีฟังก์ชั่นพิเศษแถมมาอีกอย่างหนึ่ง คือ การเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาพูดคุยสังสรรค์กันระหว่างทำงานบ้านงานครัว ทำอาหารฟรีๆ กันไป เม้าธ์กันไป อะไรจะเพลิดเพลินไปกว่านี้อีก!

อ้างอิง: Design with the Other 90%: Cities