‘Edible Spoon’ ช้อนกินได้ มีให้เลือก 3 รส แถมช่วยลดขยะ ลดมลพิษ

ก่อนที่จะเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมา เรามีโอกาสได้อ่านรายงานของ COBSEA หรือ Coordinating Body on the Seas of East Asia ซึ่งระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาท้องทะเลต้องเผชิญกับปริมาณขยะมากถึง 6.4 ล้านตันต่อปี โดยในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 6 เป็นขยะจากถ้วย จาน ช้อน ส้อม มีด ขวดเครื่องดื่มพลาสติก หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่าไอ้เจ้า 6% นี้มันมีปริมาณมากแค่ไหน ตัวเลขจริงๆ ของขยะเหล่านี้มีมากถึง 9,549,156 ชิ้นเลยทีเดียว (นี่ขนาดยังไม่นับรวมที่ทิ้งเกลื่อนกันทั่วไปตามท้องถนนทั่วโลกเลยนะ)

แต่ความน่าสนใจประเด็นขยะจากภาชนะและช้อนส้อมเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขอันน่าตกใจที่ว่าเท่านั้น เพราะเราก็ได้เห็นความพยายามดีๆ จากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบสัญชาติจีนอย่าง Qiyun Deng ที่สร้างสรรค์อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง โดยทำขึ้นจากพลาสติกชีวภาพที่ได้มาจากแหล่งทรัพยากรทดแทนและสามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ หรือภาชนะแบบไทยๆ ที่ ฐากูร โฆษินทร์เดชา ทดลองนำแกลบมาเป็นตัวตั้งต้นในการผลิต เลยไปจนถึงภาชนะจากกาบหมาก อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของ สุมาลี ภิญโญ เป็นต้น

และไอเดียคล้ายๆ กันนี้ได้ถูก Triangle Tree บริษัทผู้ผลิตของใช้ในบ้านจากนิวยอร์คนำเสนอผ่านโปรเจ็กต์ที่ชื่อ Edible Spoons หรือแปลแบบตรงตัวก็คือช้อนกินได้ชิ้นนี้ด้วย โดย Triangle Tree ได้คัดสรรส่วนผสมออร์แกนิก ได้แก่ ข้าวโพด แป้งโฮลวีต ผงฟู เกลือ น้ำตาล ไข่ไก่ นม สมุนไพร และเครื่องเทศ มาเป็นวัตถุดิบหลัก กับขนาดและภาพลักษณ์ที่เรียบๆ กระทัดรัด นอกจากนี้พวกเขายังสร้างจุดเด่นให้กับช้อนดังกล่าวด้วยการพัฒนาให้ Edible Spoons มีให้เลือก 3 รส ไม่ว่าจะเป็นรสจืดที่เหมาะกับอาหารทุกชนิด รสหวานที่จะไปกันได้ดีกับอาหารที่ออกหวานหน่อย ไปจนถึงรสเผ็ดที่จะช่วยเสริมความร้อนแรงให้กับอาหารประเภทเดียวหรืออาหารจืดๆ ให้มีรสชาติแสบสันขึ้นมาอีกหน่อย

หากไม่นับรวมจุดประสงค์ของ Triangle Tree ที่ตั้งใจให้ Edible Spoons ถูกนำไปใช้แทนที่ช้อนพลาสติกที่ย่อยสลายยากและเป็นสาเหตุของมลพิษที่เกิดขึ้นในทุกๆ ที่ทั่วโลกและนับวันจะมีมากขึ้นๆ แล้ว รูปลักษณ์และแนวคิดแบบ edible ที่ไม่ต้องทิ้งขยะลงพื้น (แต่เป็นในท้อง) ก็ดูจะเป็นกิมมิกที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการลดจำนวนขยะได้ไม่ยากแบบที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบหน้ามือหลังมือ แต่ที่จะยากหน่อยคงจะเป็นรสชาติของช้อนว่าจะจืด จะหวาน หรือจะเผ็ดกันดีล่ะทีนี้

อ้างอิง: Triangle Tree