เลือดหมดในเกม? เติมเลือดต่อชีวิตด้วยการไปบริจาคจริงกับสภากาชาด

ดูเหมือนช่องว่างระหว่างเกมกับความเป็นจริงจะลดน้อยลงไปทุกทีๆ เกมสมัยนี้ทำได้สมจริงมาก ไม่ว่าจะเป็นกราฟิกดีไซน์ การเคลื่อนไหว มุมกล้องของเกม แทบทุกอย่างที่จะจำลองโลกเสมือนจริงให้เนี้ยบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เสริมสร้างจินตนาการเนื้อหาของเกม จนทำให้เรารู้สึกโลดแล่นอยู่ในความแฟนตาซีแต่มีหน้าตาเหมือนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

เหมือน จนน่ากลัว โดยเฉพาะกับเกมประเภทต่อสู้ยิงกัน ซึ่งเป็นเกมที่จำลองการต่อสู้ที่ทำให้เราต้องเสียเลือดไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเห็นกล่องพยาบาลให้คอยเก็บเพื่อเติมเลือด แต่หากเล่นไปเรื่อยๆ แล้วเลือดหมดก็จบเกมโอเวอร์ไป แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ …ชีวิตในเกมส์เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ แต่กับชีวิตจริงไม่ใช่ ถ้าเสียเลือดก็ตายแล้วตายเลย ในเมื่อเกมมีการเสียเลือดอยู่แล้ว แล้วก็เป็นสถานที่ที่ผู้คนเห็นว่าเลือดมีความสำคัญต่อชีวิตยังไง ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ สื่อสารไปที่คอเกมเมอร์ทั้งหลายให้ลุกออกจากห้องแคบๆ ออกไปบริจาคเลือดให้มากขึ้น

มีเคสหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เกม Halo ซึ่งเป็นเกมสุดฮิตของเครื่อง XBOX ได้ร่วมทำแคมเปญกับทางสภากาชาด โดยเกมนี้เป็นเกมต่อสู้สงครามอวกาศระหว่างมนุษย์กับเหล่าเอเลี่ยนแบบยิงกันกระหน่ำ ซึ่งก็เหมือนเกมที่เล่นปรกติ แต่ที่พิเศษคือ หากผู้เล่นลุกไปบริจาคเลือดจริง ผู้เล่นจะได้โค้ดพิเศษเอาไว้ใส่ในเกมเพื่อปลดล็อคเลือดต่อชีวิตให้ตัวเอง แล้วได้ออพชั่นพิเศษที่จะทำให้ประสบการณ์การเล่นเกมส์ Halo นี้สนุกขึ้น รวมทั้งบอกว่าคุณได้สนับสนุนการบริจาคเลือดเรียบร้อยแล้ว หากคุณเข้าร่วมแคมเปญนี้ จะมีคนสองคนรอดตายไปพร้อมๆ กัน ผู้เล่นในโลกเสมือน และผู้ป่วยในโลกความเป็นจริง…ง่าย ตรงประเด็น ยิ่งถ้าเป็นคนที่บ้าเกมนี้มากๆ ด้วยแล้ว เมื่อได้เห็นแมสเสจที่ทำให้อึ้งขนาดนี้ ก็แทบจะลุกออกไปบริจาคเลือดกันเลยทีเดียว

เชื่อหรือไม่ ไอเดียแรงๆ นี้เป็นเพียงแค่คอนเซ็ปต์ที่มาจากนักศึกษาเท่านั้น ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง ไอเดียนี้กวาดรางวัลการประกวดสำหรับนักศึกษามามากมาย ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น เมื่อทาง Microsoft มาเห็นเคสนี้เข้า ก็ขอซื้อไอเดียเพื่อไปพัฒนาต่อกันจริงๆ จังๆ เลยทีเดียว

ในโลกของการโฆษณา ทุกๆ จุดที่กลุ่มเป้าหมายอยู่ (touchpoint) ถือเป็นจุดที่ทำการโฆษณาได้ทั้งสิ้น ถ้าเราหามุมเจอแล้วใส่ความเป็นครีเอทีฟเข้าไปอย่างถูกที่ถูกเวลา ผลลัพธ์ที่ได้มักมหาศาลเสมอ อย่างเช่นแคมเปญนี้

[vimeo url=”http://vimeo.com/16385355″ width=”600″ height=”338″]

 

ขอทิ้งท้ายด้วยแคมเปญที่มีลักษณะคล้ายกันอีกสองแคมเปญ งานแรกเป็นงานของนักศึกษาเช่นเดียวกัน ส่วนงานหลังเป็นงานที่เกิดขึ้นจริงที่โคลัมเบีย

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=y6Kt2FbKZJ0″ width=”600″ height=”338″]

 

[youtube url=”www.youtube.com/watch?v=twxrZPxnC8U” width=”600″ height=”338″]