ห้องสมุดสี่ขาแห่งเกาะชวา ลดอัตราการไม่รู้หนังสือในเด็กยากจน

11

ถ้าจะทำห้องสมุดขึ้นสักแห่ง…คุณต้องเริ่มจากอะไร? ถ้าถามเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายเขาคงจะบอกว่า คุณก็ต้องมีงบประมาณก่อนนะ เงินน่ะสำคัญ แล้วก็ต้องมีบ้านหรืออาคารสักหลังเอาไว้เก็บหนังสือได้ …แล้วคุณก็ต้องไปหาซื้อหนังสือมาให้ได้เยอะๆ ด้วย เราลองโยนคำถามนี้เล่นๆ ในหมู่เพื่อน คำตอบที่ทิ่มแทงกลับมาได้แรงที่สุดคือ “เธอไม่ควรเริ่มทำอะไรทั้งนั้น เพราะสมัยนี้เขามีแต่ปิดห้องสมุดนะ ไม่มีเปิดใหม่หรอก” – โอ๊ยย!

แต่นี่คงไม่ใช่คำตอบที่น่าพอใจสำหรับชายชื่อ Ridwan Sururi เขาคนนี้ไม่ใช่เศรษฐีใจบุญมาจากไหน เป็นเพียงคนเลี้ยงม้าธรรมดาๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเกาะชวากลาง (ประเทศอินโดนีเซีย) แต่เมื่อต้นปี 2015 ที่ผ่านมา Ridwan ริเริ่มโครงการสร้างห้องสมุดเคลื่อนที่ส่วนตัว เขาต่อกล่องไม้ขึ้นมาใบหนึ่ง เรี่ยไรขอบริจาคหนังสือ (ใช้แล้ว) จากเพื่อนฝูงคนรู้จัก และนำกล่องหนังสือใบน้อยเท่าที่มีนี้ ‘โยนขึ้นอานม้า’ เพื่อออกเดินทางไปยังโรงเรียนต่างๆ ในชนบทห่างไกล Ridwan Sururi ทำสิ่งนี้ถึงสัปดาห์ 3 ครั้ง เพียงเพราะเขาอยากมีส่วนแจกจ่ายโอกาสแห่งการอ่านออกเขียนได้ให้กับเด็กๆ ในชนบทเท่านั้น …เป็นห้องสมุดที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ถามว่ามันยากไหมที่จะบริหารห้องสมุดเคลื่อนที่? Ridwan เป็นเพียงคนเลี้ยงม้าและหาได้มีความรู้เรื่องบรรณารักษ์ศาสตร์ไม่ สิ่งที่เขาทำก็แค่มีสมุดเล่มหนึ่ง จดชื่อคนยืม ชื่อหนังสือ วันที่ยืม และวันที่ควรจะไปเก็บหนังสือคืนเท่านั้น หนังสือส่วนใหญ่ใน ‘ห้องสมุดสี่ขา’ ของ Ridwan จะเป็นพวกนิทาน การ์ตูน และหนังสือภาพสำหรับเด็ก เขาไม่เน้นหนังสืออ่านที่มีตัวหนังสือมากเกินไป (เพราะเด็กๆ อาจจะเบื่อเสียก่อน หรือไม่ก็หันหลังให้ห้องสมุดไปเลย)

“ผมรักม้า…และอยากจะทำให้งานอดิเรกนี้มีประโยชน์กับสังคมครับ” Ridwan Sururi เชื่อเช่นนั้น
เราเองก็เชื่อว่าห้องสมุดบนหลังม้าของเขาก็จะเป็นสะพานเชื่อมความฝันให้เด็กๆ ไปได้อีกไม่รู้จบเช่นกัน

* จากข้อมูลขององค์การยูเนสโก อินโดนีเซียสามารถลดอัตราการไม่รู้หนังสือในผู้ใหญ่ลงได้อย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จาก 15.4 ล้านคนในปี 2549 มาอยู่ที่ 6.7 ล้านคนในปี 2554

472249290472249386472249398472249294(1)960x540960x540-1960x540-2

อ้างอิง: BBC, Getty Images