‘Human Library’ ชวนคน ‘อ่านมนุษย์’ เพื่อหยุดอคติต่อกัน

Human Library คือห้องสมุดที่ไม่มี ‘หนังสือ’ สักเล่มให้เราอ่าน! แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้เกิดการเรียนรู้อะไรจากที่นี่ เพราะสิ่งที่ห้องสมุดแห่งนี้เตรียมไว้ให้ ‘อ่าน’ ก็คือ ‘มนุษย์’ คนเดินดินธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ นี่ไงล่ะ

ก่อนจะอธิบาย ‘วิธีอ่านมนุษย์’ ให้หายสงสัย ต้องขอเกริ่นว่า–นี่คือโปรเจ็กต์ที่มีแนวคิดสุดก้าวหน้าและท้าทายประเด็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลกทุกวันนี้ นั่นก็คือการมีอคติ และ ความคิดเหมารวม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จนเกิดการเลือกปฏิบัติ ตัดสินคนไม่เท่าเทียมกัน ลามไปถึงขั้นกดขี่ข่มเหงลิดรอนสิทธิส่วนตัวกันเลยก็มี ซึ่งเป็นปัญหาที่ชักจะเพิ่มระดับความรุนแรงและความถี่มากขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่างที่เห็นใกล้ตัวก็เช่นการฆ่าตัวตายของเด็กวัยเรียนจากการถูกเพื่อนล้อเลียน หรือแม้แต่การทะเลาะเบาะแว้งกันบนท้องถนนที่หลายครั้งจบลงด้วยความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ก็มีข่าวให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ

เพื่อทำลายอคติที่มาบดบังใจเราจนสร้างปัญหา จึงเป็นที่มาของโปรเจ็กต์ Human Library ที่พยายามสร้าง community ชวนคนมาเปิดใจศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจมนุษย์คนอื่นๆ ที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านเพศสภาพ อาชีพ เชื้อชาติ สภาพร่างกาย นิสัยใจคอ ฯลฯ อะไรแบบนี้เป็นต้น

วิธีการ ‘ยืมมนุษย์’ มาอ่านก็มีอยู่แค่ 3 ขั้นตอนง่ายๆ เริ่มจาก เลือกมนุษย์ (Human Books) คนที่เราสนใจ แล้วก็รับบัตรยืมเพื่อทำการนัดหมายจัดตารางเวลา และสุดท้ายก็คือการเข้าร่วมกระบวนการ ‘อ่าน’ กันเลย ซึ่งก็คือการรับฟัง Human Book คนที่เราเลือกนั้นเล่าเรื่องราวส่วนตัวของเขาให้ฟังตรงหน้า พร้อมพูดคุยถามตอบอย่างเปิดใจกัน โดยลักษณะก็คล้ายๆ กับมาตั้งโต๊ะล้อมวงคุยกันนั่นแหละค่ะ แต่ถ้าเรียกว่านั่งคุยเฉยๆ มันก็คงไม่ปัง ไม่ว้าวเท่าใช้คำว่า ‘ห้องสมุด’ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเรียนรู้แต่อยู่ในรูปแบบของการมาพูดคุยกับมนุษย์ด้วยกันแทนอ่านหนังสือ

โปรเจ็คต์ Human Library เริ่มต้นครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์คในปี 2000 และมีสาขางอกเงยไปเมืองต่างๆ ทั่วโลกตามแต่ใครจะสนใจ ซึ่งใกล้บ้านเราที่สุดก็คือ Human Library SG ที่ประเทศสิงคโปร์นี่เอง คงจะดีไม่น้อยถ้าเราจะมี Human Library สาขาประเทศไทย เกิดขึ้นบ้างสักวัน ถ้าวันนั้นเป็นจริง…เราคงได้มาช่วยกันทลายกำแพงและมาแลกกัน ‘อ่าน’ นะคะ 🙂

ติดตามข่าวสารกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ Humanlibrarysg.org และ Facebook Page


อ้างอิง: Human Library SGFacebook Page