พลิกห้องสมุดซังกะตาย สู่แหล่งความรู้ชั้นยอดของคนเมือง

ผมลองตั้งคำถามกับตัวเองคำถามหนึ่งว่า “ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับการเขียนบทความ ผมเข้าห้องสมุดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่?”

อืมมมมมมมม (ทิ้งระยะเรียกความทรงจำยาวเกิน 5 วินาที)!!!! ถ้าจะตอบว่า “จำไม่ได้แล้ว” คุณผู้อ่านคงอาจจะตกใจเล็กน้อย เพราะหลายๆท่านอาจจะคิดว่า คนที่ทำอาชีพงานเขียนมักจะเดินเข้าห้องสมุดเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม แต่สำหรับผม กลับเดินห่างจากห้องสมุดมากขึ้น แต่ผันตัวเข้าหาข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต บ้างเดินเข้าร้านขายหนังสือเพื่อซื้อแหล่งข้อมูลใหม่สดชั้นเยี่ยมเก็บเข้าห้องพักสร้างเป็นห้องสมุดสร้างสรรค์ฉบับเล็กๆ ส่วนตัว

สาเหตุหลักคงเป็นเพราะห้องสมุด (ส่วนใหญ่) ดูน่าเบื่อ (ความเห็นส่วนตัว) อีกทั้งตัวเองก็เริ่มก้าวออกจากระบบการศึกษา ความจำเป็นในการเข้าไปหาข้อมูลทางวิชาการ ทำรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ก็เริ่มลดน้อยถอยลง (ทั้งๆ ที่ในห้องสมุดอาจมีหนังสือดีๆ ที่ผมต้องการก็ได้) รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ในยุคนี้เริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบไป ส่งผลให้ ‘ห้องสมุด’ กลายเป็นแหล่งหนังสือที่ดูน่าเบื่อ เหมาะกับแวดวงการศึกษาเท่านั้น เหตุผลนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับผมหรือที่ประเทศไทยเพียงอย่างเดียว เพราะห้องสมุดสาธารณะบนโลกใบนี้ (อาจ) จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อดึงผู้ใช้บริการให้เดินกลับเข้าไปหา แทนการดำรงไว้เพื่อให้คนเดินหนี

ทีมงานจาก Nieuwe Bibliotheek (แปลว่า New Library ห้องสมุดแห่งใหม่) จาก Almere ประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงได้ระดมสมองปรับแนวคิดในการออกแบบห้องสมุดโดยปรับให้พื้นที่ให้เหมือนกับพื้นที่ขายเพื่อสร้างสีสันให้กับหนังสือทุกเล่ม เช่น การวางหนังสือหันหน้าออกมาทางผู้อ่านแทนการโชว์แต่สันหนังสือเพียงอย่างเดียว การจัดหมวดหมู่หนังสือที่แบ่งตามความสนใจของผู้อ่าน รวมหนังสือประเภท fiction และ nonfiction เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งอบรมพนักงานทุกท่านให้เรียนรู้การให้บริการลูกค้าควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านการตลาด ทีมงานยังเปิดพื้นที่ Seat2Meet (S2M) เพื่อให้ผู้อ่านแต่ละท่านได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ นอกจากนี้ภายในพื้นที่ยังมี Bustling Café ร้านกาแฟพื้นที่พักผ่อนสบายๆ และจุดนัดพบคนรักการอ่าน ส่วนการตกแต่งสถานที่ ทีมงานใช้ป้ายสัญลักษณ์ทั้งป้ายร้าน ป้ายบอกโซนต่างๆ ตามสไตล์การจัดร้านในห้างสรรพสินค้า ส่งผลให้ห้องสมุดที่เคยดูเชยกลับมีชีวิต

ผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เข้ามาใช้บริการสูงถึง 100,000 ครั้งในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือนหลังจากการปรับรูปแบบ ที่สำคัญ Nieuwe Bibliotheek กลายเป็นพื้นที่ลำดับที่ 3 ที่ชาวเมืองเลือกที่จะมาเยี่ยมชม พักผ่อน และนี่คืออีกหนึ่งแนวคิดในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่นำไลฟ์สไตล์ของคนเมืองเข้าไปพลิกความเชยให้กลายเป็นพื้นที่ความรู้เชิงสร้างสรรค์แห่งใหม่ที่เราน่าจะนำแนวคิดมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทย

อ้างอิง : Shareable-New Dutch Library, Facebook – denieuwebibliotheek