ในแต่ละปี ขยะจากพลาสติกในมหาสมุทรมีปริมาณสูงถึง 8 ล้านตัน โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2025 ในมหาสมุทรจะมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งขยะเหล่านั้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มาจากการบริโภคของพวกเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน อินโอนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย
ในขณะที่หลายหน่วยงานพยายามคิดวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นองค์กร Ocean Conservancy ที่มีความพยายามจะลดปริมาณขยะให้ได้ 45 เปอร์เซ็นต์ภายใน 2025 และ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2035 รวมไปถึงกิจการเพื่อสังคมอย่าง Plastics For Change แห่งนี้ด้วยซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เกิดเป็นผลลัพธ์ทางบวก ซึ่งหลังจากที่พวกเขาเข้าไปสำรวจก็พบว่าในประเทศกำลังพัฒนาประสบกับปัญหาด้านการจัดการขยะ เป็นต้นว่าต้องเผชิญกับมลพิษจากขยะในปริมาณที่สูง ตลอดจนการขาดประสิทธิภาพในการรีไซเคิลขยะดังกล่าว พวกเขายังพบอีกว่า ประชาชนว่างงานจำนวนหนึ่งในประทศเหล่านี้หาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะ Plastics For Change เลยปิ๊งไอเดียโดยให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้ามาทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหลักในการลดปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการ ‘เก็บ ระบาย และขาย’ เพื่อนำไปเป็นต้นทุนในการผลิตโปรดักท์สำหรับการอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย Plastics For Change จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงกลุ่มคนเก็บขยะและกลุ่มบริษัทที่ใช้ขยะเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า eco-friendly เข้าด้วยกัน และตัดพ่อค้าคนกลางออกเพื่อลดการถูกเอาเปรียบและนำไปสู่การส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัว
ความน่าสนใจของกิจการเพื่อสังคมกลุ่มนี้อยู่ที่กลยุทธ์และแนวคิดในการทำงานของพวกเขา นั่นคือ ‘Integrity’ ที่พวกเขาจะสร้างช่องทางการให้รายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่สะดวกต่อผู้สนใจในการค้นข้อมูล ‘Transparency’ กับการนำเสนอข้อมูลแบบโปร่งใส รวมถึงเปิดพื้นที่ให้มีการแชร์ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการทำงานขององค์กร ท้ายสุดกับ ‘Sustainability’ ที่จะมีการคิดหาวิธีการนำขยะไปสู่กระบวนการการรีไซเคิลให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจโดยรวม
ดูเหมือนงานนี้จะเป็นวิธีแก้ปัญหาแบบ win-win กันทุกฝ่าย ทั้งทางกลุ่มประชาชนที่จะมีงานทำและได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม กลุ่มบริษัทที่จะได้รับวัตถุดิบจากแหล่งโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งนั้นก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลงอันจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่จะได้ใช้สินค้าในราคาที่ไม่สูงนัก ขณะที่สิ่งแวดล้อมเองได้รับการเยียวยาแบบยั่งยืนด้วย ตอนนี้ทีมงาน Plastics For Change กำลังระดมทุนเพื่อทำให้การทำงานของพวกเขาบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ผ่าน Indiegogo กันอยู่ และดูเหมือนจะได้รับฟีดแบคที่น่าพอใจไม่น้อย สำหรับใครที่สนใจ สามารถแวะเข้าไปดูที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพวกเขาได้ ขอส่งแรงใจให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
[youtube url=”http://youtu.be/sMNFJUW37sY” width=”600″ height=”350″]
อ้างอิง: Plastics For Change