คนไร้บ้านในกรุงปรากสร้างอาชีพทัวร์ไกด์ นำเที่ยวซอกมุมแบบ unseen

สำหรับคนบางกลุ่ม (รวมถึงตัวผม) คุณค่าของการมีชีวิตหาใช่อยู่ที่เงินทองมากมายท่วมหัว แต่เป็นการทำให้ตัวเอง ‘มีคุณค่ากับสังคม’ ที่ตนเองอยู่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ได้เพิ่มภาระให้กับสังคมนั้น เฉกเช่นเดียวกับ ‘คนเร่ร่อน’ ที่มักถูกมองจากสังคมว่าเป็นผู้ไร้หนทาง ขาดอนาคต ทั้งๆ ที่หลายๆ คนไม่เคยคิดที่จะทำร้ายใคร ไม่ได้เป็นหัวขโมย ฯลฯ แต่เพียงเพราะเขาไม่มีโอกาสที่จะสามารถแสดงถึงศักยภาพให้คนทั่วไปได้เห็น ‘คุณค่า’ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา

เพื่อเป็นการสร้างคุณค่า และพัฒนาชีวิตให้กับคนเร่ร่อน 3 นักศึกษา Tereza Jurečková, Katarina Chalupková และ Ondřej Klügl จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Charles สาธารณรัฐเช็ก ตัดสินใจสร้างธุรกิจเพื่อสังคมโดยหยิบยกเอา ‘คนเร่ร่อน’ มาเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนภายใต้ชื่อโครงการ Pragulic เกิดเป็นธุรกิจนำเที่ยวเดินชมเมืองปรากโดยคนเร่ร่อน แนวคิดของทีมได้รับรางวัลชนะเลิศ Social Impact Awards ในปี 2012 จากการหยั่งเสียงของประชาชนทั่วไป และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมนี้เป็นจริงขึ้นมา เสน่ห์ของการเดินทัวร์แบบนี้ก็อยู่ตรงที่ เส้นทาง การค้นพบ การเรียนรู้ จากสองข้างทาง ซึ่งแตกต่างจากทัวร์ทั่วไปที่ไกด์นิยมพาเข้าโบลถ์ เยี่ยมชมสถาปัตยกรรม แต่ทัวร์จากคนเร่ร่อน จะช่วยให้คุณเข้าถึงความเป็นท้องถิ่น โดยเส้นทางแต่ละเส้นจะถูกเลือกโดยความชำนาญและความสนใจของไกด์นั้นๆ เช่น Honza Badalec ในวัย 55 ปี นิยมพาลูกทัวร์ไปเดินตามตะเข็บของกรุงปราก แหล่งเสื่อมโทรมที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หันหน้าหนี พร้อมๆ กับเปิดร้านหนังสือที่ถูกจัดวางไว้อย่างเรียบร้อยในกระเป๋าเดินทางคู่กายของเขา (เป็นหนังสือที่เขาเก็บได้จากถังขยะ แต่ยังอยู่ในสภาพดี) และถ้าวันไหนเกิดฝนตกหนัก เขาจะระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้หนังสือของเขาเปียกน้ำ

และนี่คืออีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่สนใจตัวเมืองแบบดิบๆ ผ่านคนเร่ร่อนที่รู้จักถนนทุกสายในตัวเมือง จากทางเดินที่เขาอาศัยหลับนอน จากใต้สะพานที่เขาใช้หลบฝน จากกองขยะที่แหล่งรายได้ ให้กลายมาเป็น ‘อาชีพ’ ที่เขาสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ที่สำคัญ อาชีพที่ว่านี้ได้สร้าง ‘คุณค่าทางสังคม’ ให้กับเขาทางอ้อม

[youtube url=”http://youtu.be/ZC8PY5wpuGE” width=”600″ height=”340″]

อ้างอิง : reuters-homeless tours, Prague Post,