รู้ สู้ Flood ผ่านน้องช้างตัวเบ้ง: เชียงราย…ไหวอยู่ แต่อยู่ไหว

ในปี 2554 ความรุนแรงจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก่อให้เกิดการรวมตัวของนักสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อ ‘รู้สู้ Flood’ ที่ย่อยข้อมูลข่าวสารที่เข้าใจยากให้กลายเป็นวิดิโอแนวอินโฟกราฟฟิก โดยใช้น้องปลาวาฬแทนความหมายของ ‘มวลน้ำ’ พร้อมแนะนำวิธีการป้องกัน เตรียมตัว รับมือกับมหาอุทกภัยผ่านวิดิโอทั้งสิ้น 9 ตอน + ตอนที่ 10 ‘รู้ สู้ ทุกสิ่ง’ ที่ผลิตเป็นชุดความรู้ 9 เรื่องในน้ำท่วมที่เราไม่อยากให้ลืม

มาคราวนี้ เหตุการณ์ที่สั่นระทึกกลับไม่ใช่มาจากมวลน้ำ แต่เป็น ‘แผ่นเดินไหว’ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2557 ด้วยแรงสั่นสะเทือนที่ 6.3 ริกเตอร์ ส่งผลให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง นอกจากอาคารบ้านเรือนที่พังทลายแล้ว โบราณสถานที่สำคัญๆ ของจังหวัดก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ก็คือ เราไม่ได้รับการอบรมเรียนรู้การรับมือภัยพิบัติธรรมชาติเลย แต่ในความโชคร้ายเรามักจะมีความโชคดีเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งนั่นก็คือ การร่วมมือร่วมใจของคนชาวเชียงรายที่ร่วมกันสร้างเครือข่าย ประสานงานดูแลซึ่งกันและกัน จนกลายเป็น ‘เชียงรายโมเดล’ ที่พร้อมรับมือหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว

ทีมงาน ‘รู้ สู้ Flood’ ได้นำเสนอวิดิโอแนวอินโฟกราฟฟิก โดยใช้ ‘ช้างตัวเบ้ง’ แทนการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และ ‘ช้างตัวจ้อย’ แทนอาฟเตอร์ช็อคด้วยแรงสั่นสะเทือนขนาดเล็ก พร้อมทั้งเชิญชวนให้เราทุกคนร่วมมือกับชาวเชียงราย เช่น ‘วิศวกรอาสา’ เพื่อประเมินความเสียหาย หรือ ‘อาสาซ่อมสร้าง’ เพื่อช่วยดูแลซ่อมแซมอาคาร นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเว็บไซต์ Thaiquake เพื่ออัพเดทข้อมูลสถานการณ์ล่าสุด รวมสภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แบบฟอร์มขอความช่วยเหลือ และเบอร์โทรฉุกเฉิน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ อีกทั้งยังเปิดรับเงินบริจาคกู้วิกฤตแผ่นดินไหว มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา โดยความร่วมมือกับทางไทยพีบีเอสอีกหนึ่งช่องทางด้วย

จะเห็นได้ว่าทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นในวันที่เราไม่ได้ตั้งตัว จะมาพร้อมกับ ‘น้ำใจ’ ที่ทุกคนในชาติร่วมใจแบ่งปันกันเสมอ การเลือกใช้เครื่องมือสื่อสารที่ดีสามารถย่อยข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงยากให้เป็นเรื่องง่าย และนี่คือ ‘น้ำใจ’ ของคนไทยที่พร้อมร่วมแรงร่วมใจกันทุกครั้งในยามที่เกิดภัยพิบัติ แต่อย่าลืมเรื่องการอบรมเรียนรู้เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วยนะครับผม

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=zrcNVRt8Onc” width=”600″ height=”340″]

 

อ้างอิง : Thaiquake, Roo Su Flood