สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนมีกับคนขาดแคลนกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งมีอาหารกินอย่างเหลือเฟือ แต่อีกกลุ่ม (ใหญ่) กลับไม่มีเงินจะเติมเต็มตู้อาหารของตัวเอง
ที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในสเปนอย่าง Galdakao ซึ่งมีประชากรเพียง 30,000 คน แต่มีอัตราการว่างงานถึง 13% ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงเกิดไอเดียที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ ด้วยการเปลี่ยนอาหารส่วนเกินเหลือทิ้งให้มาเป็นอาหารสำหรับคนที่ขาดแคลน อัลวาโร ไซซ์ (Alvaro Saiz) ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการในเยอรมนี ซึ่งเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ให้คนมาโพสท์ว่ามีอาหารส่วนเหลืออยู่ แล้วให้ผู้อื่นมาติดต่อรับไปได้ แต่ไซซ์อยากทำอะไรที่โลว์เทคกว่านั้น เขาจึงคิดไอเดีย ‘ตู้เย็นร่วมใจ’ (Solidarity Fridge) ขึ้นมา เป็นตู้เย็นสาธารณะที่ใครก็ได้นำอาหารไปใส่ไว้ เพื่อให้คนที่ขาดแคลนมาหยิบไปได้
เมื่อไอเดียแหวกแนวนี้ถูกนำเสนอต่อนายกเทศมนตรี ก็ได้รับอนุมัติเงินทุนเริ่มต้นราว 5,000 ยูโรทันที เป็นค่าตู้เย็นและค่าไฟ ตู้เย็นร่วมใจนี้มีกฏห้ามนำเนื้อสัตว์สดๆ มาใส่ แต่จะเป็นอาหารพร้อมทาน หรือส่วนผสม ผักผลไม้สด ไข่ นม แยมก็ได้ บรรจุหีบห่อเรียบร้อย พร้อมแปะวันหมดอายุบอกไว้ โดยจะมีอาสาสมัครคอยมาเคลียร์อาหารหมดอายุออกจากตู้เย็น แต่ไม่ค่อยจะมีเหลือหรอก นี่แสดงว่าตู้เย็นนี้ตอบโจทย์ของชุมชนจริงๆ
ตู้เย็นนี้นอกจากสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ชุมชนได้แล้ว ยังเป็นโมเดลซึ่งสามารถต่อยอดได้ง่าย จากตู้แรก ก็ขยายสู่ตู้ต่อไปยังชุมชนอื่นๆ รวมถึงเป็นแหล่งการกรณีศึกษาให้โรงเรียนในชุมชนนำนักเรียนมาทัศนศึกษา เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการประหยัดอาหารอีกด้วย
[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=UYOU3aT_4bQ” width=”600″ height=”350″]
อ้างอิง: The Salt, Tree Hugger