จะ Swap หรือ Swop ซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่ต้องง้อเงิน

รูปแบบของการโฆษณาบวกกับกิเลสอย่างหนาทำหน้าที่กระตุ้นต่อมความอยากให้เราเดินเข้าห้าง ช้อปริมทาง หรือซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ท ราวกับว่าเราไม่เคยมีสินค้าชิ้นนั้นมาก่อนในชีวิต ส่วนของเก่าที่เคยมี

ก็ถูกทิ้งขว้างโดยไม่มีการเหลียวแล แนวคิดของการบริโภคนิยมสุดโต่งจนเกินความต้องการกลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนในยุคนี้ ตัวเลขสถิติจาก Swap-O-Matic ระบุไว้ว่า ประเทศอเมริกาที่มีประชากรเพียงแค่ 6% ของประชากรโลก กลับบริโภคทรัพยากรไปทั้งสิ้น 30% ซึ่งเป็นการบริโภคที่สูงเกินความเป็นจริงไปถึง 4 เท่าตัว และนี่คือหนึ่งเหตุผลหลักที่ผลักดันให้ Lina Fenequito ตัดสินใจสร้างตู้แลกของ The Swap-O-Matic

The Swap-O-Matic คล้ายๆ กับตู้จำหน่ายสินค้าหยอดเหรียญทั่วไป แต่สิ่งที่แปลกตาไปจากตู้อื่นๆ ก็อยู่ตรงที่ระบบการแลกของและการซื้อของ โดยตู้นี้จะไม่มีการใช้เงินในการซื้อขาย แต่จะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านจำนวนเครดิตที่คุณสะสมไว้ หรือถ้าคุณมีของเก่าที่คุณไม่อยากเก็บก็สามารถนำของเหล่านั้นมาแลกกับของที่อยู่ในตู้ได้ โดยผู้ใช้จะต้องกรอก Email Address พร้อมใส่รหัสผ่าน เพื่อเป็นการยืนยันถึงสถานะของผู้ใช้ที่ได้ลงทะเบียนกับ Swap-O-Matic

สำหรับในประเทศไทย ใช่ว่าเราจะไม่มีรูปแบบของการแลกของเช่นนี้ ในทางตรงกันข้ามแนวคิดของการแลกของได้ถูกจุดประกายเมื่อ 4 ปีที่แล้วโดย ดีเจฤทธิ์ (วราฤทธิ์ มังคลานนท์) จากคลื่น Fat 104.5 FM ที่เปิดตัวเว็บไซต์ภายใต้ชื่อ www.coolswop.com ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเพื่อนสมาชิก ภายใต้สโลแกน ‘ที่นี่ Mac กับหมาราคาเท่ากัน’ ปัจจุบันมีสมาชิกมากถึงหลักหมื่น พร้อมกับกิจกรรมที่ขยายวงกว้างมากขึ้น จากเดิมเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านเว็บ มาสู่การนัดพบปะสังสรรค์ของเพื่อนสมาชิก หรือล่าสุดกับกิจกรรม Car Boot Swop งานเปิดท้ายแลกของครั้งที่ 2 เพื่อให้สมาชิกและผู้สนใจสามารถแลกสินค้าซึ่งกันและกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ รูปแบบของการแลกของไม่ได้ขีดวงจำกัดไว้ที่สินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการแลกของในเชิงทักษะได้ด้วย เช่น การแลกสอนภาษาเยอรมันกับการสอนตีกลอง การแลกงานออกแบบโลโก้กับของในร้านที่คนออกแบบอยากเป็นเจ้าของ เป็นต้น

ทั้ง The Swop-O-Matic และ Coolswop จึงเปรียบเสมือนกับเมล็ดพันธุ์ของความคิดสร้างสรรค์ที่นอกจากจะช่วยให้เราได้ของใหม่โดยที่เราต้องการโดยไม่เสียเงินแล้ว ยังสามารถช่วยปลูกจิตสำนึกให้เราเห็นคุณค่าของการ Reusing และ Recycling พร้อมๆ กับการเรียนรู้รูปแบบการบริโภคที่พอเพียงได้ในทางอ้อมด้วย

[youtube url=”http://youtu.be/shR6Ke5YmB0″ width=”600″ height=”335″]

อ้างอิง:  www.swap-o-matic.com และ www.coolswop.com