‘The Fossil Project’ ชิ้นงานเอกลักษณ์ จากขยะสลายยาก


‘สีทาบ้าน’ เคมีของเหลวที่ออกแบบมาเพื่อการกลายสภาพเป็นของแข็งที่ทนทานมากที่สุดชนิดหนึ่ง ทั้งปกป้องสิ่งก่อสร้างกลางแจ้งจากแดด ลม และฝน ประโยชน์ของมันช่างเหลือล้น แต่ในทางกลับกัน คุณสมบัติความคงทนเมื่อแข็งตัวจากการกลายสภาพทางเคมีเมื่อมันเหลือใช้ มันจึงกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายหรือนำกลับไปใช้ได้ใหม่ยากมาก

หรืออีกด้านที่ผู้อุปโภคอย่างเราๆอาจไม่ทราบคือ ในอุสาหกรรมสีมีสาร “โพลียูริเทน” หนึ่งในสารกลุ่มพลาสติกที่ย่อยสลายยากมากระดับโลก โดยวิธีการย่อยสลายนั้นมีอยู่ทางเดียวคือ “การฝังกลบ” ซึ่งใช้เวลานานหลายร้อยปี และมีผลกระทบก่อให้เกิดเคมีปนเปื้อนในดิน

ดีไซน์เนอร์อิสราเอล Shahar Kagan เริ่มสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ที่ช่วยแบ่งเบาภาระโลกที่เรียกว่า The Fossil Project  คือการนำเอาสีเหลือใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน มาดัดแปลงได้ชิ้นงานใหม่ๆ ดีไซน์แตกต่างไม่เหมือนใคร เธอเริ่มจากการขอสีทาบ้านที่เหลือจากงานช่างสี 2-3 ราย และนำมาเทใส่ไว้ในแม่พิมพ์ ของเหลวจะเริ่มแข็งตัวในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยอาศัยปัจจัยของความร้อน ความชื้น และแสง UV ในแต่ละระดับ เมื่อเกิดการแข็งตัว จะได้หน้าตาของการเรียงชั้นของเหลวที่แตกต่างกัน กลายเป็นเอกลักษณ์ของงานแต่ละชิ้นเสมือนเป็นความบังเอิญ Kagan ได้ทดลองกระบวนการนี้ต่อเนื่องจาก 6 เดือน จนถึง 2 ปี โดยได้ก้อนโพลี่ยูรีเทนที่หนักถึง 4.5 กิโลกรัม และมีชั้นการเรียงตัวกันมากกว่า 1,000 ชั้น ซึ่งเมื่อนำมาตรวจสอบ พบว่ามีความเหนียวและคงทนแข็งแรงมาก เอื้อต่อการแกะสลักหรือปรับรูปทรงได้หลากหลาย

เธอจึงพัฒนาออกมาเป็นชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์และงานของใช้ต่างๆ ที่ต้องการคุณสมบัติของวัสดุเหนียวและคงทน ไม่ว่าจะเป็นของใช้ในบ้านเช่น ตู้  โต๊ะ ลูกบิด บานจับ หรือแม้แต่ชิ้นงานเล็กๆ อย่าง กระดุม สร้อย แหวน ต่างหู กำไล ที่มีความสวยงามแต่ละชิ้นไม่เหมือนกันเลย! นอกจากจะได้สินค้ารูปแบบใหม่ ดีไซน์ไม่เหมือนใครแล้ว ยังช่วยกำจัดขยะย่อยสลายยากและลดการฝังกลบอีกต่างหาก ใครจะคิดเล่า จากขยะสีทาบ้านด้านนอกจะสามารถหมุนเวียนเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านด้านใน…ให้เก๋ได้อีก

อ้างอิง: Kagan-Design