เสรีภาพอยู่ที่ไหน? วิเคราะห์ไลฟ์สไตล์บน FB แค่เรื่องเล็กๆ ก็ถูกประหารได้

ในบางประเทศแค่ดื่มเหล้าก็ถูกทำโทษถึงประหารชีวิต
ในบางประเทศแค่ไปปาร์ตี้ที่มีผู้ชายและผู้หญิงก็ถูกทำโทษโดยการตัดหัว
ในบางประเทศ เด็กผู้หญิงวัยรุ่นแค่คุยกับผู้ชาย ก็จะถูกฆ่าให้ตายโดยการฝังทั้งเป็น

คนเราอาจเคยชินกับเสรีภาพที่เรามีอยู่โดยไม่เคยรับรู้ว่ากับคนในประเทศอื่นๆ แล้ว เขามีความเท่าเทียมในทางเสรีภาพได้เท่ากับเราหรือไม่ เพราะแต่ละประเทศมีกฏหมายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ในระดับแตกต่างกัน เราเคยรู้ว่าบางประเทศมีการจำกัดเสรีภาพการเข้าถึงสื่อ บางประเทศมีกฏหมายลงโทษที่รุนแรงเกินจำเป็น หรือบางประเทศมีกฏหมายที่อิงกับความเชื่อทางศาสนามาก อย่างที่เราเคยเห็นข่าวการลงโทษประหารชีวิตที่น่าสะเทือนใจในประเทศแถบตะวันออกกลางอยู่บ่อยๆ

องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ป้องกันและส่งเสริมยุติการทำร้ายสิทธิมนุษยชน ต้องการที่จะบอกให้คนในนิวซีแลนด์ตระหนักถึงเรื่องความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นต่อตัวเราหรือเพื่อนร่วมโลก แต่นิวซีแลนด์เองก็เป็นประเทศที่มีเสรีภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงเป็นการยากที่จะรณรงค์เรื่องเหล่านี้ให้คนเข้าใจ เพราะพวกเขาไม่เคยถูกจำกัดสิทธิ ไม่เคยรับรู้ว่าการถูกริดรอนสิทธิเป็นอย่างไร

ดังนั้น วิธีการที่ดีสุดคือ ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ หรือ ‘การเอาเสรีภาพเขามาใส่เสรีภาพเรา’ และไอเดียที่เหมาะสมในยุคนี้คือ การใช้ Facebook เป็นตัวบอก

ในยุคของโซเชียลมีเดีย เป็นยุคที่ทุกคนต่างพากันแชร์เรื่องราวส่วนตัวลงในเฟสบุ๊ค ซึ่งสะท้อนให้เห็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเรา ไอเดียนี้เป็นแอพพลิเคชั่นบนเฟสบุ๊คที่ชวนคนเข้าไปเล่นเพื่อวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เราเคยทำในอดีตไม่ว่าจะเป็นภาพการไปปาร์ตี้แฮงค์เอาท์ ภาพการใกล้ชิดแบบชายหญิง การเปลี่ยนสเตตัส การโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเมือง การพูดคำหยาบ และอื่นๆ มีผลต่อกฏหมายประเทศอื่นอย่างไร ระบบจะทำการดูดประวัติการเล่นเฟสบุ๊คของเรา นำไปวิเคราะห์เทียบกับบทลงโทษของแต่ละประเทศ และนำเสนอด้วยข้อมูลที่เข้าใจได้ง่ายว่า การที่เราใช้ชีวิตแบบปกติสุขของเรานั้น ในแต่ละประเทศเราถูกจะถูกลงโทษอะไรบ้าง ข้อมูลจะสรุปมาให้ว่าเราโดนลงโทษไปกี่ครั้ง แยกตามประเภท ใครสนใจของไปเล่นได้ที่ www.trialbytimeline.org.nz ผมลองเล่นดู โดนจับ 69 ครั้ง จากข้อกล่าวหา 9 ข้อ ในกฏหมาย 46 ประเทศ โดนทำโทษด้วยแส้เคี่ยน 14 ครั้ง จำคุก 36 ครั้ง โดนปาก้อนหินจนตาย 1 ครั้ง ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วไม่เห็นใจเพื่อนร่วมโลกก็คงใจร้ายพอดู ตอบโจทย์ในสิ่งที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลอยากจะบอก

Facebook อาจจะเป็นโซเชียลเน็ตเวิรค์ที่เน้นเอาไว้เล่นส่วนตัวมากกว่าเอาไว้ทำอย่างอื่น แต่ถ้าสังเกตดีๆ เราทิ้งร่อยรอยและประวัติส่วนตัวลงไปในนั้นมากมาย เราเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าเป็น Personalized Information องค์กรการกุศลอื่นๆ ที่อยากเข้าถึงคนเหล่านี้ หากใส่ไอเดียที่เหมาะสมลงไป ก็สามารถที่จะเข้าถึงคนเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะนั่นคือกระจกที่ใว้ใช้สะท้อนตัวพวกเขาเอง

ต่อไปถ้าจะโพสอะไรลงในเฟสบุ๊ค เราคงไม่ลืมว่า แค่เช็คอินที่บาร์สักแห่งสักที่ในโลกเราคงถูกลงโทษทำร้ายร่างกาย ฐานดื่มแอลกอฮอล์ แค่ตอบตกลงไปปาร์ตี้สักแห่ง เราคงถูกลากเข้าตาราง ฐานสุมหัวกันโดยไม่ได้รับอนุญาต

[youtube url=”http://youtu.be/Op571qHb-jo” width=”600″ height=”350″]